อมก๋อย 2018-06-19T10:27:22+00:00

Project Description

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล

ความเป็นมา

omkoi 3

        เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้ตำบลอมก๋อย อำเภอสบโขง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณดอยแบแล พิกัด MV286614 ถูกบุกรุกแผ้วถาง เป็นบริเวณกว้าง เป็นจำนวนนับพันไร่ และมีแนวโน้มว่าจะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยไว้ เช่นนี้ แหล่งต้นน้ำบริเวณ ห้วยอมแฮด,ห้วยแม่หลอง,ห้วยแบแล,ห้วยแม่ตื่น, ห้วยพะอัน, ห้วยกองซาง และห้วยไคล้นุ่น จะประสบภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อยในอนาคตสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีวินิจฉัยแล้ว ให้จัดตั้งสถานีทดลองเกษตรในพื้นที่สูงขึ้น โดยนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วมาจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชเมืองหนาวและให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เข้ามามีส่วนร่วมในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการเกษตร ทั้งนี้ ก็เพื่อหยุดยั้ง มิให้ราษฎรบุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

วัตถุประสงค์
        ๑ เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
        ๒ เพื่อทดลองสาธิตปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ทั้งพืชผัก ไม้ดอก และไม้ผลเมืองหนาวให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่ง จ้างงานให้กับราษฎร ในหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกการดำรงชีพอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
        ๓ เพื่อสกัดกั้นการบุกรุกแผ้วถางป่าบริเวณดอยแบแล โดยการจัดระเบียบชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงตลอดจนปรับปรุงระบบ นิเวศป่าต้นน้ำ รวมทั้งอนุรักษ์กล้วยไม้ ในพื้นที่ให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วย จำนวน 7 สาย

หลักการและแนวคิด
         ๑ ดำเนินงานสนองตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
         ๒ ลด และยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าบริเวณดอยแบแล
         ๓ ให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
         ๔ จัดระเบียบชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียงตามแนวทางหมู่บ้านป่าไม้
         ๕ จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง และพัฒนาให้เป็นศูนย์ฝึกการดำรงชีพอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนปรับปรุงระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และอนุรักษ์แหล่งกล้วยไม้

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน     

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล
หมู่ที่ 5 ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

พิกัดที่ตั้ง MV 287618 ระวางแผนที่ 4644 II 

ทิศเหนือ            ติดกับ   บ้านสบอมแฮด อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้                 ติดกับ   บ้านกองซาง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันออก     ติดกับ   บ้านยางใต้ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตก       ติดกับ   บ้านพะอัน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

 

การดำเนินงาน

หลักการและแนวคิด
        ๑ ดำเนินงานสนองตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
        ๒ ลด และยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าบริเวณดอยแบแล
        ๓ ให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
        ๔ จัดระเบียบชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียงตามแนวทางหมู่บ้านป่าไม้
        ๕ จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง และพัฒนาให้เป็นศูนย์ฝึกการดำรงชีพอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนปรับปรุงระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และอนุรักษ์แหล่งกล้วยไม้

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)

          ได้กำหนดแผนการดำเนินการของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล ออกเป็น ๙ แผนงานหลัก เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังนี้
               ๑ งานอำนวยการและบริหารโครงการ
               ๒ งานพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 
               ๓ งานธนาคารอาหารชุมชน
               ๔ งานบำรุงรักษาสวนเดิมอายุ 7-10 ปี
               ๕ งานบำรุงป่าไม้ใช้สอย
               ๖ งานแนวกันไฟ
               ๗ งานฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน
               ๘ งานฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร
               ๙ งานนาแลกป่า

ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
ผลการดำเนินงาน

๑. งานอำนวยการและบริหารโครงการ
        ดำเนินการปรับปรุงดูแลพลับพลาที่ประทับ ซ่อมแซมถนน ปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล
๒. งานพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
       ดำเนินการพัฒนาสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล เพื่อรองรับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ให้เป็นแหล่งรายได้ของชุมชน
๓. งานธนาคารอาหารชุมชน
       พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ และเหลือจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มตั้งแต่สร้างแหล่งอาหารเพิ่มเติมเพื่อให้คนและสัตว์ได้บริโภค หรือเมื่อคนเดินเข้าป่าแล้วสามารถเก็บพืชผักตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหารจากป่าได้ ในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือแหล่งชุมชนนั้น ให้ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ประมง เพื่อบริโภคและจำหน่ายให้มีรายได้ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ มุ่งหวังให้คนรักป่าและอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข”
๔. งานบำรุงรักษาสวนเดิมอายุ 7-10 ปี
        เป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการบำรุงรักษาต้นไม้ที่มีอายุ 7-10 ปี เพื่อให้ระบบนิเวศน์เริ่มฟิ้นฟูสภาพและดูแลรักษาต้นไม้ให้มีชีวิตรอด พัฒนาตนเองและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ลดการแก่งแย่งของวัชพืชได้
๕. งานบำรุงป่าไม้ใช้สอย
        ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยมีทั้งป่าไม้ธรรมชาติ ป่าไม้เศรษฐกิจ ป่าไม้ใช้สอย และให้ราษฎรร่วมดูแลใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสมให้ป่าเป็นแหล่งรวบรวมและผลิตอาหารให้แก่ชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง สามารถอยู่อาศัยกับทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างสมดุล
๖. งานแนวกันไฟ
         ทำแนวกันไฟก็เพื่อตัดช่วงความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่ที่จะคุ้มครอง หรือป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามออกมาจากพื้นที่ที่กำหนดเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตามนโยบายของรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม
๗. งานฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและงานฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร
        เป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริในการก่อสร้างฝายต้นน้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนต้นน้ำ ซึ่งฝายต้นน้ำจะช่วยสร้างความชุ่มชื้น ดักดินตะกอน และเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่
๘. งานนาแลกป่า
       แนวคิด “นาแลกป่า” เป็นการรณรงค์ให้ชาวบ้านนำที่ดินที่บุกรุกไปมาคืน 4 ไร่ โดยโครงการจะแบ่งพื้นที่นั้นๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือ
นา 1 ไร่ : ทางโครงการจะช่วยปรับหน้าดิน ขุดร่องนา เตรียมระบบจัดการน้ำ และทำการเกษตรแบบปราณีต ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี ต้นทุนต่ำ ง่ายต่อการควบคุม และได้ผลผลิตสูง ซึ่งโครงการจะช่วยเหลือด้านกลไกการตลาดที่รองรับผลผลิต ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่แน่นอน
ป่า 3 ไร่ : พื้นที่จะถูกนำกลับมาฟื้นฟูเป็นป่า ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละพื้นที่ว่าสามารถฟื้นตัวได้เอง หรือต้องปลูกป่าทดแทนขึ้นใหม่ โดยมีศูนย์เพาะพันธุ์พืชเป็นผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์และเพาะต้นกล้า รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตั้งข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านในการรักษาผืนป่า เช่นการสร้างแนวกันไฟ และพื้นที่ที่สามารถตัดไม้และเก็บของป่าได้

ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
๑.ดำเนินการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนอีกทั้งยังช่วยป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
๒. ราษฎรในโครงการฯ เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีความภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมที่จะเป็นยามเฝ้าระวังชายแดน และป้องกันปัญหายาเสพติด อีกทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่จะเข้ามาส่งเสริม และพัฒนาต่อไป
3. ราษฎรในโครงการฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอ
มีการศึกษาที่สูงขึ้น และได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น ธนาคารข้าวพระราชทาน ถนน ประปาภูเขา ไฟฟ้า หน่วยงานต่างๆ เข้ามาแจกสิ่งของ เช่น เสื้อกันหนาว ผ้าห่มทุกปี ฯลฯ
๔. สภาพป่าต้นน้ำลำธาร ได้รับการฟื้นฟูให้กลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
รวม 2,127 ไร่ แบ่งเป็น ป่าทั่วไป 157 ไร่ ป่าใช้สอย 175 ไร่ ป่าปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำ 1,445 ไร่ และป่าหวาย 350 ไร่ ทำให้ชุมชนมีแหล่งไม้ใช้สอยเพิ่มขึ้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน
๕.สามารถพัฒนาและดำเนินงานโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรโดยรวม ทั้งจากราษฎรในโครงการและหน่วยงานภายนอก

ปัจจัยความสำเร็จ
การน้อมนำพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการจัดตั้งสถานีทดลองเกษตรในพื้นที่สูงโดยนำพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางแล้วมาจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชเมืองหนาว และให้ประชาชนที่บุกรุกดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการเกษตร เพื่อเป็นการหยุดยั้งมิให้ราษฎรบุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

บทเรียนที่ได้รับ
การนำหลักของการมีส่วนร่วมของประชาชนมาปรับใช้ ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้อย่างเหมาะสม จะทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถสัมฤทธิ์ผลได้อย่างยังยืน

ข้อมูลติดต่อโครงการ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยแบแล
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 5 ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่