พัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 2018-06-20T22:18:38+00:00

Project Description

พัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ความเป็นมา

banpong

        เป็นโครงการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำห้วยแม่โจ้ ปรับปรุงและปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าทั้งหมดของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และจัดพื้นที่นันทนาการด้านวนอุทยานใต้ลุ่มน้ำ และเป็นสถานที่สนับสนุนอาชีพเกษตรและอาชีพอื่น ทำให้ราษฎรในพื้นที่โครงการมีฐานะดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นสถานีวิจัย ฝึกอบรม และแปลงสาธิตให้แก่นักศึกษา และประชาชน เพื่อการศึกษา เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติและนำไปขยายผลต่อไป

        การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ โดยราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลป่าไผ่และบริเวณใกล้เคียงทำให้ป่าไม้อันเป็นต้นน้ำห้วยแม่โจ้ มีสภาพค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณลุ่มน้ำอื่นที่ใกล้เคียงในช่วงก่อนพ.ศ.๒๕๒๐อย่างไรก็ดีแม้ว่าราษฎรจะได้ช่วยพยายามรักษาป่าไม้อยู่แล้วก็ตามการลักลอบตัดไม้ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นยังมีอยู่เสมอทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมลงทุกที ๆและลำน้ำห้วยแม่โจ้ ซึ่งเคยมีน้ำไหลตลอดฤดูกาลเริ่มหยุดไหลในฤดูแล้ง

         ความเอาใจใส่ดูแลป่าไม้บริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ของราษฎร ได้ทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และในการเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยฯ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาต้นน้ำห้วยแม่โจ้ และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎรในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์ โดยขั้นแรกมหาวิทยาลัยฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานชลประทานที่ ๑ เชียงใหม่ สำรวจสภาพพื้นที่ทั่วไปและน้ำ ทราบว่าการพัฒนาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมอื่นต้องใช้ทรัพยากรสูงโดยเฉพาะการสร้างอ่างหรือฝายไม่คุ้มกับการลงทุน และโดยที่มหาวิทยาลัยฯ มีงบประมาณจำกัด จึงได้ขอความสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน จัดกิจกรรมที่พอจะทำได้มาเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้โดยที่หมู่บ้านโปงมีอาณาเขตบางส่วนเป็นป่า และส่วนใหญ่เป็นที่ซึ่งราษฎรอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกการพัฒนาทรัพยากรต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำควรจะดำเนินไปพร้อมๆ กันกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎรด้วยมหาวิทยาลัยฯจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและวางแนวทางอย่างสอดคล้องกับความนึกคิดความต้องการและความร่วมมือร่วมใจของราษฎรอย่างแท้จริง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดเชียงใหม่ และการประสานงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นบริเวณต้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของราษฎรและได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิการบดีมหาวิยาลัยแม่โจ้จัดทำแปลงปลูกไม้ใช้สอยสำหรับหมู่บ้านโปงและหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนส่งเสริมบริการด้านการเพาะปลูก พร้อมทั้งพัฒนาอาชีพและแปรรูปผลผลิตเกษตร ให้มีการเก็บรักษาและจำหน่ายต่อไป

         และในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริบ้านโปงในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้บริเวณบ่อน้ำแท่นพระยาหลวงโดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคณาจารย์ นักศึกษา ช่วยกันดูแลรักษาและให้ปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติมเพราะเป็นต้นน้ำลำธาร เช่น ให้ปลูกแคไทย เพาโรเนีย และไม้โตเร็วพื้นเมือง นอกจากนี้ยังช่วยแนะนำอาชีพให้แก่ราษฎร และให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ดีที่สุด

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง อธิการบดีและอาจารย์ ๔ ท่าน ได้ออกสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีราษฎรบุกรุกแผ้วถาง และลักลอบตัดไม้มากยิ่งขึ้น พื้นที่ป่าสันทรายบางแห่งราษฎรจับจองเป็นที่ทำกิน นอกจากนี้หน่วยราชการและเอกชนได้ดำเนินการขอเช่ามากขึ้น มหาวิทยาลัยฯเกรงว่าจะไม่เหลือป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารอีกต่อไปจึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ ศึกษาและพัฒนาป่าบ้านโปงขึ้น เนื้อที่ ๓,๖๘๖ไร่ และเนื้อที่ ๙๐๗ ไร่ โดยได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ (เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศึกษาวิจัย ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ) และได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในบริเวณพื้นที่ป่าและใกล้เคียงนอกจากการพัฒนาพื้นที่ ตอนบนและตอนใต้ของลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ และเสด็จพระราชดำเนินไปอ่างเก็บน้ำทอดพระเนตรสภาพน้ำและสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทรายพื้นที่โครงการพัฒนาบ้านโปงฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริ และพระกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับกรมชลประทาน และกรมป่าไม้ เพื่อรับสนองแนวพระราชดำริ โดยสรุปคือให้กรมชลประทานสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำพลังน้ำ ปรับระดับแรงดันของน้ำตามเหมาะสม เพื่อกระจายน้ำให้ต้นไม้บริเวณไหล่เขาอย่างทั่วถึงทำให้ป่าไม้ชุ่มชื้น จึงจะช่วยให้ป่าต้นน้ำลำธารสภาพดีขึ้น การสร้างฝายกั้นต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำสายต่างๆ เพื่อให้ป่ามีความชุ่มชื้น และดำเนินการทำโครงการทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน จัดพื้นที่ตอนท้ายอ่างห้วยโจ้ เพื่อให้ราษฎรมีแหล่งน้ำสำหรับใช้เพาะปลูก เลี้ยงปลา และเลี้ยงสัตว์ให้มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ไม่ให้หน้าดินถูกกัดเซาะหรือถูกน้ำชะล้างเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ

วัตถุประสงค์
        1. เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำห้วยแม่โจ้
        2. เพื่อจัดเป็นพื้นที่ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐
        3. เพื่อจัดเป็นอนุสรณ์สถาน เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษา ๕ รอบ
        4. เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
        5. เพื่อสนับสนุนอาชีพเกษตรและอาชีพอื่นให้ราษฎรมีฐานะดีขึ้น
        6. เพื่อเป็นสถานีวิจัย ฝึกอบรม และแปลงสาธิตให้แก่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับโครงการพระราชดำริ

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน

23268d54

หมู่บ้านโปง อยู่ที่หมู่ที่  ๖  ตำบลป่าไผ่  อำเภอสันทราย  จังหวัดเชียงใหม่ o11210ckl2mq5Ajl541-o

 

พระราชดำริ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ประเภทโครงการ

        โครงการพัฒนาด้านการเกษตร

การดำเนินงานและผลการดำเนินงาน

เป้าหมายการดำเนินงาน

         การอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรดิน  น้ำ  ป่า  ตามพระราชดำรัสของในหลวงทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนเพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน  ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรม  เน้นการมีส่วนร่วม ใช้หลักการความเข้าใจ  เข้าถึง พัฒนาบุคลากรทุกคน  ยึดหลักการทำงาน รู้รักสามัคคี  เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  ดังนี้

       1. ปรับปรุงและปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และจัดพื้นที่นันทนาการด้านวนอุทยานใต้ลุ่มน้ำ

      2. จัดทำแปลงปลูกไม้ใช้สอยเพื่อให้ราษฎรหมู่บ้านโปงใช้ประโยชน์โดยใช้พื้นที่ป่าหมดสภาพ 

       3. แนะนำให้ราษฎรใช้ความรู้ทางเกษตรแผนใหม่ และเกษตรครบวงจรเพื่อปรับปรุงการเกษตร

              3.1 การเพิ่มผลผลิตพืชที่ ใช้เป็นอาหารอย่างน้อยร้อยละ ๑๕ – ๒๐

              3.2 การเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารอย่างน้อย ๑ – ๒ ชนิด

              3.3 การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้หลัก ได้แก่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอก

      4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค อาทิ แหล่งน้ำ การคมนาคม ไฟฟ้า  และที่อยู่อาศัย

ลักษณะการดำเนินงาน ปี พ.ศ. 2557
  1. การบวชป่า โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย  (จำนวน 2,000 ต้น)
  2. การขุดลอกตะกอนหน้าฝาย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จำนวน 30 ฝาย
  3. การทำแนวกันไฟป่า  ของเจ้าหน้าที่โครงการพระราชดำริ
  4. การดูแลไฟป่า  ร่วมกับเทศบาลป่าไผ่
  5. การนำชมรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านโปงร่วมงานมหกรรมท่องเที่ยวไทยโดยชุมชนของภาคเหนือ
  6. รวบรวมเอกสารข้อมูลโฮมสเตย์บ้านโปง  นำเสนอเพื่อการประเมินมาตรฐาน โฮมสเตย์ไทยและผ่านการประเมิน
  7. ประสานงานดูแลการขุดลอกลำห้วยแม่โจ้ร่วมกับโครงการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  ระยะ 1.2 กิโลเมตร
  8. จัดกิจกรรมค่ายเยาวชน  สร้างจิตสำนึกความรักในสถาบัน  7000 คน
  9. ร่วมมือกับกรมประมง  ปล่อยปลาลงอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้
  10. ศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริอ่าวคุ้งกระเบน  และโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
ผลการดำเนินงาน

        จากการดำเนินงานการส่งเสริมด้านวิชาการ  ด้านประสบการณ์  และด้านการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรในหน่วยงานโครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำให้ชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมและมีการพัฒนาดังต่อไปนี้

  1. ด้านจิตใจ คนในชุมชนได้รับประสบการณ์การทำงานโดยร่วมกันในชุมชนระหว่างชุมชนร่วมกับหน่วยงานภายนอก  ทำให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกสร้างสรรค์ให้ตนเองและชุมชนโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทรต่อกัน  เมื่อมีอุปสรรคปัญหาจะใช้การประนีประนอม ซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยสังเกตได้จากกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น การเป็นมัคคุเทศก์ การพัฒนาชุมชน ปลูกป่า สร้างฝาย ทำแนวกันไฟ ปลูกหญ้าแฝก การขุดลอกคูคลอง การดำหัวผู้สูงอายุ การทำแผนงาน การประชุมและกิจกรรมทางศาสนาเป็นต้น รวมถึงชุมชนมีความภาคภูมิใจจากการที่มีผู้มาศึกษาดูงานสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อีกด้วย
  2. ด้านสังคม คนในชุมชนมีการช่วยเหลือ แบ่งปันความรู้ แบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินงาน เช่น กลุ่มองค์กรในชุมชน กลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มบริหารจัดการการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้  กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มอ.ส.ม. กลุ่มอ.ป.พ.ร. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ กลุ่มผู้ปลูกไม้ดอก  ซึ่งจะมีการช่วยเหลือและวางแผนการดำเนินการร่วมกัน
  3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีผูกพัน แบ่งเป็น ดิน น้ำ ป่า มีกฎกติกาการใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง  มีการอนุรักษ์และพัฒนาไปพร้อมกัน  จากกิจกรรมการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรจากกิจกรรมค่ายลูกเสือ–เนตรนารี คนในชุมชนสามารถจะใช้ทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืน โดยการหาของป่า  และมีรายได้จากการท่องเที่ยว  จากการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ในด้านทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนมีการบริหารจัดการป่าไม้น้ำ และจัดการบ้านพักโฮมสเตย์  เพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  มีการปลูกป่าสร้างฝายทำแนวกันไฟ  มีกฎการอนุรักษ์ป่า  มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุด  ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด  มีการแบ่งปัน  และมีการเปิดรับความรู้จากหน่วยงานองค์กรภายนอก จากการศึกษาดูงาน อบรม สัมมนา และมีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา จากการเข้าร่วมประกวดกิจกรรมหลากหลาย การจัดการป่าไม้ การจัดการน้ำ ด้านการท่องเที่ยว  ทำให้มีวิสัยทัศน์และมีการอนุรักษ์ พัฒนา  ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
  4. ด้านเทคโนโลยี  ชุมชนได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีจากการให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ความรู้ด้านการผลิตผัก ผลิตปุ๋ย ผลิตไม้ดอก
  •  ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ด้านการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เพาะเห็ด ผลิตปุ๋ย การสร้างฝายที่มีหลายแบบหลายชนิด การปลูกหญ้าแฝก
  • เทศบาลตำบลป่าไผ่  ด้านการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในครัวเรือน
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว  การจัดการบ้านพักโฮมสเตย์
  • โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่  ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ด้านการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิต  การผลิตของใช้ในครัวเรือน  ผลิตปุ๋ย  การปลูกพืชสมุนไพร  การทำบัญชีครัวเรือน
  • สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ  ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ
    • การใช้แรงลมในการดันน้ำขึ้นที่สู่ที่สูง (Air wair)
    • การใช้ GPS
    • การจัดทำสมดุลน้ำ
    • การรักษาคุณภาพน้ำ
    • การจัดทำแผนการจัดการน้ำ
    • การจัดการป่าต้นน้ำ
    • การทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม
    • การจัดทำฝายน้ำล้น
    • การจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม
    • การจัดทำผังน้ำและระบบส่งน้ำชุมชน
    • การทำแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด
    • การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่
    • การหางบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆ
    • การใช้น้ำเป็นพลังงานทดแทน

          5.ด้านเศรษฐกิจพอเพียง  ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีจากการส่งเสริมอาชีพ ปลูกดอก  ไม้ผล  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  การหาของป่า  การปลูกไม้ประดับ

               ทั้งนี้การเจริญพัฒนาของชุนบ้านโปงนั้น เนื่องจากป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรการอุปโภคบริโภค จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวอบอุ่น มีความสามัคคีในชุมชน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พื้นดินอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้สมบูรณ์ เป็นการรักษาสมดุลให้กับดินและธรรมชาติ โดยชุมชนมีการพึ่งตนเองมีการกรมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทร เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะชุมชนมีการเรียนรู้ตลอดเวลา  มีการจัดการ  มีการวางแผนการทำงาน  มีจิตวิญญาณ  เสียสละ และมีความสงบสุขคือมีสันติภาพนั่นเอง

               ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นได้จากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงมี่มีต่อพสกนิการไทยทุกหมู่เหล่าที่อยู่ภายใต้ร่มบารมีของพระองค์

ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน

      1. เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำห้วยแม่โจ้

      2. เพื่อจัดเป็นพื้นที่ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐                           

     3. เพื่อจัดเป็นอนุสรณ์สถาน เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษา   ๕   รอบ

     4. เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

      5. เพื่อสนับสนุนอาชีพเกษตรและอาชีพอื่นให้ราษฎรมีฐานะดีขึ้น

      6. เพื่อเป็นสถานีวิจัย ฝึกอบรม และแปลงสาธิตให้แก่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ดาวน์โหลดเอกสาร PDF ที่นี่

ข้อมูลติดต่อโครงการ
Footer_Layout_07