สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 2018-06-21T21:13:18+00:00

Project Description

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ
ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ความเป็นมา

         เป็นโครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพดำเนินโครงการในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นแก้ไขการบุกรุกแผ้วถางป่า การทำการเกษตรของราษฎรที่ไม่ถูกหลักวิชาการและขาดการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการแก้ไขปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ ผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลง รวมถึงขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้ง การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ราษฎรพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ 

a28

สภาพปัญหา

        ในพื้นที่ทุรกันดารตามขุนเขาในพื้นที่ภาคเหนือที่ซึ่งการคมนาคมติดต่อระหว่างหมู่บ้านเป็นไปด้วยความยากลำบากราษฎรประสบปัญหาในเรื่องการผลิตทั้งในส่วนของการผลิตเพื่อการเลี้ยงชีพและการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่ไม่สามารถหล่อเลี้ยงให้ดำรงชีพอยู่ได้จึงทำให้ต้องทำการบุกรุกพื้นที่ป่าแห่งใหม่ เพื่อทำเป็นไร่เลื่อนลอยสลับกันไปมาตามแต่ความสมบูรณ์ของดินจะมีอยู่จากการบุกรุกทำลายป่าไม้พื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของพื้นที่ภาคเหนือยังผลให้เกิดความแห้งแล้ง สภาพแวดล้อมถูกทำลายราษฎรที่ประสบปัญหาอยู่แล้วก็ยิ่งได้รับปัญหาพอกพูนมากขึ้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อทำอย่างไรให้ราษฎรสามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมได้อย่างมีความสุขมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี มีความมั่นคงในชีวิตและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าพึ่งพา และรักษาได้อย่างยั่งยืน

พระราชดำริ

        สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ประเภทโครงการ

        โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ

การดำเนินงานและผลการดำเนินงาน

แนวพระราชดำริ

         การดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ เป็นแนวทางหนึ่งในอันที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของราษฎรข้างต้น ซึ่งจะมีข้อแตกต่างกับโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริคือ การเน้นการปลูกพืชมากกว่างานด้านการปศุสัตว์ เนื่องจากในบางพื้นที่ที่จัดตั้งสถานีหรือพื้นที่ที่ราษฎรได้อาศัยทำอยู่นั้นไม่เหมาะสม ปริมาณน้ำที่ใช้ไม่เพียงพอ รวมถึงราษฎรบางส่วนอาจจะมีความชำนาญด้านการปลูกพืชมากกว่า ดังนั้น จึงได้พระราชทานพระราชดำริในเรื่องของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น โดยมีแนวทางเดียวกันกับฟาร์มตัวอย่างกล่าวคือ ให้ราษฎรเข้ามามีส่วนในกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานีเพื่อซึมซับความรู้และเกิดทักษะ ทั้งยังได้รับความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยมีสถานที่ดำเนินการปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

เริ่มดำเนินการในปี 2543

1. สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านแปกแซม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่  สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่

เริ่มดำเนินการในปี 2545

1. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยแบแล อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
 สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่

เริ่มดำเนินการในปี 2546

1. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยแม่เกี๋ยง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
 สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่
2. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยอมพาย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่

เริ่มดำเนินการในปี 2547

1. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริเสาแดง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่
2. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริม่อนล้าน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
 สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่
3. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
 สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่

เริ่มดำเนินการในปี 2548

1. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำรินาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
สามารถดาวน์โหลด .docx ได้ที่นี่

ผลการดำเนินงานในภาพรวม

         จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคเหนือที่ผ่านมา ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นพี่น้องชาวไทยภูเขา จำนวน 6 เผ่า ได้แก่ เผ่าลีซอ เผ่าม้ง เผ่ามูเซอ เผ่าอาข่า เผ่าลั๊วะ และเผ่ากระเหรี่ยง ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ที่เหมาะสมในพื้นที่ของตน และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคและราษฎรยังมีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งเป็นรายได้จากการเข้ามาร่วมกิจกรรมกับสถานีและการผลิตในพื้นที่ของตนเอง ทำให้คุณภาพชีวิตของราษฎรดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ราษฎรได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่สูง ในด้านของทรัพยากรธรรมชาติที่เคยถูกทำลายในอดีตได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม จากการที่ผืนป่าจำนวนกว่า 200,000 ไร่ ได้รับการดูแลและฟื้นฟูทำให้ปริมาณและคุณภาพน้ำในลำห้วย ซึ่งเป็นสายเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตของราษฎรได้รับการฟื้นฟู จนคืนสภาพที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร สัตว์ป่าที่ไม่เคยพบหรือพบได้น้อยในพื้นที่ก็ได้กลับมาหากินในพื้นที่ เช่น ไก่ป่า นก ฯลฯ นอกจากนี้ ชีวิตของราษฎรได้รับการพัฒนาจนดีขึ้นมาเป็นลำดับ เช่น การรู้หนังสือภาษาไทย การมีรายได้เสริมนอกภาคเกษตร เช่น งานหัตถกรรมเครื่องเงิน งานผ้าทอมือ ฯลฯ และปัญหายาเสพติดซึ่งเคยเป็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ก็ได้รับการดูแลแก้ไขจนปัญหาความรุนแรงได้บรรเทาลง อีกทั้งราษฎรยังมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการเป็นแหล่งข่าวและร่วมกันสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในชุมชนของตน จึงอาจกล่าวได้ว่า สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของภาคเหนือเป็นแนวทาง การพัฒนาและแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คือ การเกษตร และ การประกอบอาชีพของราษฎร ตลอดจนแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติ ทั้งเรื่องยาเสพติด และชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง