เวียงแหง 2018-06-19T10:19:40+00:00

Project Description

สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม
ตามพระราชดำริ อำเภอเวียงแหง 

ความเป็นมา

viengheang 1

        เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรบ้านแปกแซม ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และทอดพระเนตรสวนมันอะลูทรงพบว่าทั้ง 2 จุด เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ห้วยหกหลวง ห้วยนายาว และห้วยนาอ่อน ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายใช้เป็นที่ทำกิน ปลูกมันฝรั่งและสวนลินจี่ และมีแนวโน้มว่าจะถูกแผ้วถางไปเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรของหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบ ได้แก่บ้านแปกแซม บ้านหินแตว บ้านหลักแต่ง และบ้านเปียงหลวง นอกจากนี้หมู่บ้านดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ชายแดนล่อแหลมต่อปัญหายาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงได้มีพระราชเสาวนีย์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไข โดยสรุปประเด็นสำคัญของพระราชเสาวนีย์ คือ
        1) ให้พัฒนาด้านการเกษตร โดยจัดตั้ง สถานีสาธิตและถ่ายทอด การเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม
ตามพระราชดำริเพื่อสาธิต ถ่ายทอดให้ความรู้ และส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสมและถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมด้านการปศุสัตว์แล้วขยายผลการดำเนินงานจากสถานีฯ เข้าไปพัฒนาหมู่บ้านและความเป็นอยู่ของราษฎรในบริเวณใกล้เคียงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
        2) ให้พัฒนาแหล่งน้ำ อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร รวมทั้งอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่อย่างเพียงพอ

วัตถุประสงค์
       1. เพื่อส่งเสริมอาชีพและเพิ่มศักยภาพ ด้านการเกษตรกรรม การปศุสัตว์ ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ของราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย
       2. เพื่อจัดหาและปรับปรุงแหล่งน้ำไว้ใช้ในการบริโภคอุปโภค และการเกษตรกรรมในพื้นที่
       3. เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำสร้างความชุ่มชื้นครอบคลุมพื้นที่
       4. เพื่อจัดระเบียบชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนบนความพอเพียงตามวิถีชีวิตของชนเผ่า รวมถึงสร้างจิตสำนึกความเป็นคนไทย

หลักการและแนวคิด
         การดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ เป็นแนวทางหนึ่งในอันที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของราษฎรข้างต้น ซึ่งจะมีข้อแตกต่างกับโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ คือ การเน้นการปลูกพืชมากกว่างานด้านการปศุสัตว์ เนื่องจากในบางพื้นที่ที่จัดตั้งสถานีหรือพื้นที่ที่ราษฎรได้อาศัยทำอยู่นั้นไม่เหมาะสม ปริมาณน้ำที่ใช้ไม่เพียงพอ รวมถึงราษฎรบางส่วนอาจจะมีความชำนาญด้านการปลูกพืชมากกว่า ดังนั้น จึงได้พระราชทานพระราชดำริในเรื่องของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น โดยมีแนวทางเดียวกันกับฟาร์มตัวอย่างกล่าวคือ ให้ราษฎรเข้ามามีส่วนในกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานีเพื่อซึมซับความรู้และเกิดทักษะทั้งยังได้รับความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน

บ้านแปกแซม หมู่ที่ 6 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

 

 

การดำเนินงาน

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
         การดำเนินงานของสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแปกแซม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
1. จัดตั้งสถานีฯ ที่บ้านแปกแซม หมู่ที่ 6 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พิกัด MB 673825 เดิมเป็นพื้นที่สวนมันอะลู อยู่ห่างจากบ้านหลักแต่ง ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
2. ทำการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำ และพื้นที่การเกษตรเพื่อกำหนดกรอบของ แนวทางพัฒนาและกำหนดพื้นที่การดำเนินงานในสถานีฯ
3. แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 3 พื้นที่ คือ
        – พื้นที่ปศุสัตว์
        – พื้นที่การเกษตร
        – พื้นที่ปลูกป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำจากชลประทาน ที่จ่ายให้ สถานีฯ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการบำรุงดินและพัฒนาที่ดินรวมอยู่ใน พื้นที่ต่าง ๆ
4. จัดระเบียบชุมชน จำนวน 2 หมู่บ้าน (บ้านแปกแซม และบ้านหินแตว)
        – ป้องกันรักษาป่า
        – ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
        – รังวัดแบ่งแยกพื้นที่
        – ปลูกไม้สนเพื่อใช้สอย
5. การปฏิบัติงานสถานีฯ จัดจ้างแรงงานจากราษฎรในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และมีประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถนำไปปฏิบัติเองได้
6. สาธิตและถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีความรู้ และเป็นผู้ชำนาญการด้านป่าไม้ทั้ง 2 หมู่บ้าน
7. ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และพิพิทธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรทั้ง 2 หมู่บ้าน
8. การขยายผลจากสถานีฯ เข้าไปพัฒนาหมู่บ้านจะดำเนินการอย่างค่อยเป็น ค่อยไปโดยดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม

การดำเนินงานในหมู่บ้านเป้าหมาย
        1. สร้างความเข้าใจกับราษฎรถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานีสาธิตและ ถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และบทบาทหน้าที่ของราษฎร
        2. รังวัดกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน
              – พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 350 ไร่
              – พื้นที่ทำกิน จำนวน 520 ไร่
              – พื้นที่ป่า จำนวน 11,000 ไร่
              -พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จำนวน 7,000 ไร่
              – พื้นที่ป่าใช้สอยเพื่อปลูกไม้ใช้ประโยชน์ จำนวน 4,000 ไร่
        3. จัดระเบียบชุมชน
            – สำรวจการอยู่อาศัย และถือครองที่ดินของราษฎร จำนวน 130 ครอบครัว
            – ออกเอกสารสิทธิ์ทำกินพิเศษให้ราษฎรในแต่ละครอบครัว ๆ ละ 4 ไร่ รวม 520 ไร่
            – สำรวจสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชน
            – สนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค
            – ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมตามหลักวิชาการ
            – ส่งเสริมพัฒนาอาชีพนอกภาคเกษตร

ผลกรดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
เสริมสร้างทรัพยากร (พืช สัตว์ มนุษย์)
        – อนุรักษ์สภาพป่า จำนวน 8,000 ไร่
        -ปลูกป่าไม้ใช้สอย จำนวน 250 ไร่
        -ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ จำนวน 1,200 ไร่
        -ปลูกพืชกินได้ พืชสมุนไพรในแปลงธนาคารอาหารชุมชน จำนวน 150 ชนิด
        -เพาะชำหญ้าแฝก จำนวน 60,000 กล้า
         -เพาะชำกล้าไม้มีค่า จำนวน 20,000 กล้า
         – ต้นศุภโชค จำนวน 2 ไร่
         – ต้นกาแฟ จำนวน 5 ไร่
         – ลิ้นจี่ จำนวน 10 ไร่
        – ส้มโชกุน จำนวน 10 ไร่
        – กล้วยหอม จำนวน 5 ไร่
       – ต้นหม่อน (ใช้ผลทำไวน์) จำนวน 10 ไร่
       – อาโวกาโด้ จำนวน 5 ไร่
       – มะคาเดเมีย จำนวน 10 ไร่
       – พลับ จำนวน 5 ไร่
       – บ๊วย จำนวน 5 ไร่
• พืชไร่ (เพื่อการสาธิต)
       – ข้าวโพด จำนวน 10 ไร่
       – ข้าวไร่ จำนวน 35 ไร่
       – ชา จำนวน 10 ไร่
      – ลินิน จำนวน 1 ไร่
       – ผักต่าง ๆ จำนวน 50 ไร่
• เลี้ยงสัตว์ (เพื่อการสาธิต)
        – ไก่ชี้ฟ้า จำนวน 50 ตัว
        – หมูจินหัว จำนวน 4 ตัว
        – แพะพันธุ์นม จำนวน 2 ตัว
        – แกะพันธุ์ขน จำนวน 67 ตัว
        – เป็ดเทศ จำนวน 50 ตัว
        – เป็ดอี้เหลียง จำนวน 50 ตัว
วิถีชีวิต
         1) ด้านที่อยู่อาศัย/ทำกินได้จัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฎรบ้านแปกแซม จำนวน 4 ไร่ต่อครอบครัว จำนวน 130 ครอบครัว รวม 520 ไร่ เพื่อให้ทำกินเป็นหลักแหล่งมิต้องทำไร่หมุนเวียนเหมือน ในอดีตที่ผ่านมา
         2) ไม้ใช้สอย (ฟืน)ราษฎรได้มีไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือนที่ได้จากการปลูก ทำให้ ไม่ไปทำลายป่าธรรมชาติ
         3) ราษฎรในพื้นที่โครงการฯประกอบอาชีพทำไร่ ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วแดง มันฝรั่ง โดยเฉลี่ยครอบครัวละ 4 ไร่
         4) ราษฎรได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักสวนครัวจากการเป็นแรงงานในสถานีฯ และนำกลับไปปฏิบัติจริงที่บ้านของตนเอง
         5) ราษฎรได้รับการสนับสนุนพันธุ์สัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น เพื่อนำไปเลี้ยงในครัวเรือนเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
         6) แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีใช้เพียงพอในแต่ละครอบครัว และ รวมไปถึงการเกษตรราษฎรสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งก่อน ที่ยังไม่มีโครงการฯ ต้องพึ่งพาปริมาณน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
         7) ราษฎรได้เรียนรู้มีประสบการณ์สามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลาย ทางเลือก ทำให้สามารถจะสร้างรายได้
ให้แก่ครอบครัวได้มากขึ้น ไม่ต้องลักลอบค้าขายสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไปคุณภาพชีวิต
              1) ราษฎรมีสภาพความเป็นอยู่ในด้านโภชนาการที่ดีขึ้น
              2) ราษฎรได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านภาษาไทย การคิดเลขเป็น และมีจิตสำนึกในความเป็นไทยมากขึ้น
              3) ราษฎรมีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้ไม่เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
              4) อัตราการเกิดของประชากรลดลงจากการวางแผนครอบครัว
              5) ราษฎรมีรายได้จากการเป็นแรงงานรับจ้างในสถานีฯ ในอัตราวันละ 80-150 บาท/คน/วัน และมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อครอบครัว นอกจากนี้ยังมีรายได้เสริมจากงานฝีมือ เช่น การทอผ้า เป็นต้น

ปัจจัยความสำเร็จ
         ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ได้เข้าไปพัฒนาการปลูกพืชอย่างเป็นระบบในพื้นที่จัดทำ แปลต้นแบบการปลูกมะคาเดเมีย จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกชาลูกผสม ๗๑๓๒ แปลงต้นแบบการปลูกพืชผักตามฤดูกาลผลการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผน เกษตรกรมีการพัฒนาการประกอบอาชีพทางการเกษตรดีขึ้น มีการปลูกมะคาเดเมีย ปลูกชาและพืชผัก ส่วนระบบการปลูกพืช (คะน้าฮ่องกง ถั่วหวาน ผักตระกูลกะหล่ำ ผักตระกูลผักกาด) และมีการขยายผล เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีที่แนะนำโดยกรมวิชาการเกษตรทุกด้านโดยเฉพาะด้านพันธุ์อีกทั้ง ยังนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน สรุปได้ว่าระบบเกษตรที่ดำเนินการแล้วและความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เพราะมีอาหารจากไร่นา และมีการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกในพื้นที่ของตนเองทดแทนการซื้อหาจากภายนอก

บทเรียนที่ได้รับ/ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ราษฎร มีรายได้จากการเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในสถานี
2. ราษฎรได้รับการเรียนรู้การฝึกฝน และสามารถนำไปขยายผลในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว
3. สามารถลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้ในอีกระดับหนึ่ง
4. ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับสัญชาติไทยอย่างถูกต้อง
5. สามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำทำให้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า
6. สามารถจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรบ้านแปกแซม ประมาณ 400 ไร่
7. จัดหาน้ำช่วยเหลือในด้านการอุปโภคบริโภคให้กับราษฎรบ้านลีซอแปกแซม จำนวน 110 ครอบครัว ประชากร648 คน และบ้านหินแตว จำนวน 42 ครอบครัว ประชากร 181 คน ได้ตลอดทั้งปี
8. การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ให้กับราษฎรแบบครบวงจร ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถอาศัยทำกินอยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่อพยพย้ายถิ่นฐาน ไม่แผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย และเปิดพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้น

ภาคผนวก(เอกสาร,ภาพประกอบ/อื่นๆที่เกี่ยวข้อง)
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2543

ข้อมูลติดต่อโครงการ

บ้านแปกแซม หมู่ที่ 6 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่