ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

# ชื่อแผนงานโครงการ ประจำปี ความคืบหน้า
1 จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับภาคเหนือ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด
งบประมาณ : 103,075,500 บาท
2525
การใช้งบประมาณ

ความคืบหน้าโดยรวม

100

ที่ตั้ง
ความเป็นมา:

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525  ให้พิจารณาตั้งขึ้นบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่ โครงการประมาณ 8,500 ไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณต้นน้ำเหมาะสมและเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารซึ่งศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะทำการศึกษา การพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลักต้นทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษา ด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์ ที่สมบูรณ์แบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์แล้วนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่ง “สรุปผลและการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน:

ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่กวง ตำบลป่าเมี่ยง ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 8,500 ไร่

วัตถุประสงค์ของโครงการ:

เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับภาคเหนือ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เขตพื้นที่ โครงการประมาณ 8,500 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอบรม และเผยแพร่การศึกษาให้แก่ส่วนราชการและเกษตรกรทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ

เป้าหมายโครงการ:

1. พัฒนาแหล่งน้ำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับสนับสนุนงานศึกษาการพัฒนาด้านต่างๆ ของศูนย์ และจัดให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎร หมู่บ้านรอบศูนย์ ที่เหมาะสมร้อยละ 70
2. ศึกษารูปแบบการพัฒนาป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ให้ได้ 100% ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์และสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎร โดยเฉพาะหมู่บ้านรอบศูนย์ ในการอนุรักษ์ทรัพยาการป่าไม้
3. ศึกษาพัฒนาวิธีการและรูปแบบการอนุรักษ์และน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือตอนบน
4. ศึกษาและทดสอบการปลูกพืชต่างๆ ที่เหมาะสมทั้งพืชสวนพืชอุตสาหกรรมพืชผักพืชไร่ ข้าว และเห็ด
5. ศึกษาการอยู่ร่วมกันของพืชต่างๆ ในพื้นที่ต่างกับสภาพความเป็นจริง และคัดเลือกพันธุ์เพื่อบริการสู่เกษตรกร
6. ศึกษารวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่หายาก
7.ศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม พืชอาหารสัตว์ รวมทั้งสัตว์ปีก โดยเน้นการศึกษาการเลี้ยงโคนมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
8. ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทย
9. ศึกษาเกี่ยวกับการวางระเบียบการจับปลาในแหล่งน้ำ เทคนิคและส่งเสริมการเลี้ยงปลา
10. พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ ให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง โดยมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 บาท/ครอบครัว/ปี ตลอดจนมีพัฒนาการทางสังคมอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานของความเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ของทางราชการ
11. พัฒนาศักยภาพของคน ทางด้านจิตใจ ความคิด ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีโลกทัศน์กว้าง และส่งเสริมให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ:

1. สามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอสำหรับสนับสนุนงานศึกษาการพัฒนาด้านต่างๆ ของศูนย์ฯ และเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
2. สามารถทำการพัฒนาป่าที่เหมาะสมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ การป้องกันรักษาป่า ควบคุมไฟป่าและการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
3. สามรถทำการพัฒนาวิธีการและรูปแบบการอนุรักษ์และน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือตอนบน
4. สามรถทำการทดสอบการปลูกพืชต่างๆ เหมาะสมตลอดการรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชที่หายากทั้งพืชสวน พืชอุตสาหกรรม พืชผัก พืชไร่ ข้าว และเห็ด ในพื้นที่ต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงพร้อมทั้งคัดเลือกพันธุ์เพื่อบริการสู่เกษตรกร
5. สามารถพัฒนาการเลี้ยงโคนม พืชอาหารสัตว์ รวมทั้งสัตว์ปีก ในสภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่
6. สามารถพัฒนาการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทย
7. สามรถทำการพัฒนาแหล่งน้ำ เทคนิค และการส่งเสริมการเลี้ยงปลา แก่เกษตรกรให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

ผู้รับผิดชอบ ติดต่อ:

กรมชลประทาน

ปรับปรุงล่าสุด:

23 เม.ย. 2561 14:30 น. -