สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง (งานอนุรักษ์ฟื้นฟู)  บ้านเสาแดง  ตำบลแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม

# ชื่อแผนงานโครงการ ประจำปี ความคืบหน้า
ยังไม่มีรายการในขณะนี้.
การใช้งบประมาณ

ความคืบหน้าโดยรวม

0

ที่ตั้ง
ความเป็นมา:

ประวัติความเป็นมา

               เมื่อวันเสาร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บ้านลีซอเสาแดง หมู่ที่ 7 ตำบลแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม (ปัจจุบันแยกพื้นที่ออกเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณดอยขุนห้วยยา เนื่องจากทรงทราบว่า พื้นที่ป่าแถบนั้นในอดีตได้ถูกแผ้วถางไปจำนวนหนึ่ง โดยราษฎรบ้านลีซอเสาแดง เพื่อใช้พื้นที่ ปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยมาก่อน เมื่อทางราชการได้ทำการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ราษฎรบ้านลีซอเสาแดงได้เลิกปลูกฝิ่นและหาเลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว โดยการทำไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน ผลผลิตที่ได้ต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้เมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูก คนหนุ่มสาวบ้านเสาแดง จึงได้ละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในตัวเมือง เพื่อหารายได้ นอกจากนั้นยังพบว่า ราษฎรบ้านลีซอเสาแดงยังขาดโอกาสทางการศึกษา และการบริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ดังนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น และให้ราษฎรบ้านกะเหรี่ยงห้วยเขียดแห้งได้เข้ามาร่วมอยู่ในโครงการด้วย

พระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อวันเสาร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547

1. ให้จัดตั้งโครงการสถานีทดลองเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง

2. ถ้าปลูกป่าจะเป็นผลดีน้ำจะมากขึ้น

3. โครงการนี้เริ่มต้นในวันดี วันแห่งความรัก

4. ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด และระมัดระวัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ละเอียดอ่อนเพราะเคยเป็นแหล่งปลูกและผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่มาก่อน ราษฎรเขาเคยมีชีวิตที่ง่ายกว่านี้ (การทำมาหากินที่ได้เงินง่าย)

5. ให้จัดหาพันธุ์ปลาที่ทนอากาศหนาวเย็นได้มาลองเลี้ยงดูและหวังว่าจะเพาะเลี้ยงปลา Trout และปล่อยในลำธารธรรมชาติได้

6. ให้จัดตั้งธนาคารข้าวที่หมู่บ้านเสาแดง และหมู่บ้านห้วยเขียดแห้ง

 

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน:

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านเสาแดง หมู่ที่ 7 ตำบลแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง L 7018 หมายเลข 4646 I, 4646 IV, 4647 II และ 4647 III (WGS 84) พิกัดที่ตั้งโครงการ 419516 E 2097937 N สูงจากระดับน้ำทะเล ปานกลาง 1,270 เมตร ตั้งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม กฎกระทรวงฉบับที่ 712 (พ.ศ.2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2517 เนื้อที่ประมาณ 36,875 ไร่

วัตถุประสงค์ของโครงการ:

วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
2 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
3 ให้ราษฎรเรียนรู้การทำการเกษตรอย่างถูกวิธีในพื้นที่จำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อขยายที่ทำกิน
4 อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารบริเวณดอยขุนห้วยยา และฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสมบูรณ์ดังเดิม
5 เพื่อสร้างชุมชนให้มีความมั่นคง ปลอดยาเสพติด

เป้าหมายโครงการ:

65 ครัวเรือน 443 คน สนับสนุนน้ำและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่สมดุลตลอดจนเป็นแหล่งอาหารของราษฎร

จะเป็นการช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหา การว่างงานและความ ยากจนของราษฎร ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนปัญหาความเสื่อมโทรมของ ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ดินและน้ำได้เป็นอย่างดี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ:

1 หยุดยั้งการบุกรุกแผ้วถางป่าบริเวณขุนห้วยยา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำแจ่มตอนบน มีลำห้วยสาขาที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยตอง ห้วยยา ห้วยโป่ง ห้วยเขียดแห้ง และห้วยหมาบ้า
2 เพิ่มพื้นที่ป่าสมบูรณ์ขึ้น พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอย ไร่หมุนเวียน และเป็นพื้นที่ปลูกไร่ฝิ่นเดิมบริเวณขุนห้วยยาตามข้อ 6.1 ได้รับการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า เนื้อที่ 3,300 ไร่ สภาพป่า ต้นน้ำดังกล่าวสมบูรณ์ขึ้นเป็นพื้นที่สำหรับการกักเก็บน้ำฝนไว้ในดิน ให้ราษฎรใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร
3 ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรมีสุขภาพดี จาการที่ราษฎรได้รับการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน มีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค-บริโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน(โซล่าร์โฮมและพลังงานน้ำ) เยาวชนทุกคนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากราษฎรไปทำงานเป็นลูกจ้างของสถานี การปฏิบัติจริงทำให้ได้เรียนรู้การทำเกษตรเกษตรอย่างถูกวิธี ในพื้นที่จำกัด แต่ให้ผลผลิตสูง เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ ประกอบกับพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรที่อยู่ในเขตบริการของระบบชลประทาน ทำให้สามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เสริม จากงานศิลปาชีพ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องเงิน โดยในปี 2557 ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ระดับตำบล รายงานรายได้เฉลี่ยครัวเรือน บ้านเสาแดง รายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 163,370 บาท/ปี รายได้บุคคลเฉลี่ย 40,072 บาท/ปี บ้านห้วยเขียดแห้ง รายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 171,977 บาท/ปี รายได้บุคคลเฉลี่ย 38,0252 บาท/ปี ราษฎรมีรายได้สูงกว่าเดิมมาก ในปี 2547 รายได้บุคคลเฉลี่ยได้เพียง 3,000 บาท/ปี เท่านั้น

ผู้รับผิดชอบ ติดต่อ:

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ปรับปรุงล่าสุด:

15 มิ.ย. 2561 15:15 น. -