โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านนาศิริ อำเภอเชียงดาว

# ชื่อแผนงานโครงการ ประจำปี ความคืบหน้า
ยังไม่มีรายการในขณะนี้.
การใช้งบประมาณ

ความคืบหน้าโดยรวม

0

ที่ตั้ง
ความเป็นมา:

ความเป็นมา

          เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยดำ ตามพระราชดำริ บ้านนามน หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้
พันเอกชัยพฤกษ์ อัยยะภาคย์  ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32  สำนักงานพัฒนาภาค 3  หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา     กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานและความรับผิดชอบของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32  ในโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ หมู่ที่ 2  ตำบลเมืองนะ  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาวและสภาพป่าได้ถูกบุกรุกทำลายเป็นอย่างมาก  หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32  ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา  โดยน้อมนำเอาแนวทาง พระราชดำริมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  แต่ด้วยเกรงว่า จะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  จึงได้ขอเข้าอยู่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  
          ต่อมา ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือ ที่ รล 0010.1 / 2103 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ความว่า  “ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว…”

          วันที่ 27 มกราคม 2548 พลเอกณพล  บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ และท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรวจเยี่ยมราษฎรและติดตามผลการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่บ้านนาศิริ) โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคณะทำงาน ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และผู้แทนพระองค์ได้สอบถามปัญหาด้านต่างๆ ที่จะดำเนินการช่วยเหลือราษฎรจากหน่วยงานร่วมโครงการ และขอให้สำนักงาน กปร. ให้การสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงานที่เป็นคณะทำงาน ในการดำเนินงานในพื้นที่โครงการเป็นการต่อเนื่อง จำนวน 2 ปี

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน:

1. ชื่อหมู่บ้าน บ้านนาศิริ
2. ที่ตั้ง หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พิกัด 47 QMB 842751 ระวางที่ 4748 II ระดับความสูง 925 เมตร จาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง(เชียงดาวเดิม)

วัตถุประสงค์ของโครงการ:

1.  อนุรักษ์สภาพป่าและระบบนิเวศของป่าต้นน้ำลำธารและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนเพื่อชุมชน
2.  ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยมีทั้งป่าไม้ธรรมชาติ ป่าไม้เศรษฐกิจ ป่าไม้ใช้สอย และให้ราษฎรร่วมดูแลใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสม
3.  แก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ได้แก่ การใช้สารเคมีปราบวัชพืช  สารเคมีฆ่าโรคและแมลงศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี
4.  ให้ป่าเป็นแหล่งรวบรวมและผลิตอาหารให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องทำลายป่า แต่ช่วยดูแลรักษาป่า
5.  พัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น  มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง สามารถอยู่อาศัยกับทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างสมดุล
6.  จัดระเบียบและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในหมู่บ้านชายแดน ซึ่งเป็นการสนับสนุนป้องกันประเทศ และเป็นการต่อต้านขบวนการค้ายาเสพติด
7. ใช้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร  และพื้นที่อื่นๆ

เป้าหมายโครงการ:

1.สามารถจำแนกพื้นที่ป่าออกจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยพร้อมทั้งกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเหมาะสมกับกิจกรรม
2. ป้องกันรักษาป่าไม้ที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ให้คงสภาพที่สมบูรณ์ต่อไป
3. ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ให้ฟื้นกลับคืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์
4. ราษฎรได้รับความรู้ในการทำการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถใช้พื้นที่ทำกินอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ราษฎรได้รับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลการเกษตร เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกป่าขยายที่ทำกิน
6. จัดระเบียบชุมชนให้กับราษฎร โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีจิตสำนึกให้มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และประเทศชาติ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ:

ด้านสังคม 
     โครงการมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเน้นการพัฒนาคนเป็นหลัก ให้คนเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนา ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรมีการรวมกลุ่มเพื่อวางแผนและทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้าน เช่น ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเพาะเห็ดฟาง กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) กลุ่มธนาคารข้าว  มีการศึกษาเรียนรู้และแก้ปัญหาต่างๆร่วมกัน เพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้

ด้านเศรษฐกิจ 
     โครงการได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคง มีข้าวและอาหารสำหรับบริโภคมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ   ทั้งการทำให้ดู เรียนรู้จากการลงมือทำรวมทั้งพาไปศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นโลกภายนอก ทำให้ราษฎรมีการพัฒนาในทุกด้านทั้งด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสม  ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์ทำให้มีผลผลิตในการทำอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น รายจ่ายด้านต่างๆลดลง  มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือน แหล่งอาหารในหมู่บ้านเริ่มกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารประเภทโปรตีน เช่น ปลา กุ้ง ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์จากการส่งเสริม เช่น หมูป่า หมูเหมยซาน สำหรับใช้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ ส่งผลให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม 
     การส่งเสริมและพัฒนาด้านอาชีพ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ส่งผลให้ราษฎรรู้และเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ยุติการตัดไม้ทำลายป่าและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรด้านต่างๆ มีกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า(รสทป.) กลุ่มอาสาสมัครป้องกันไฟป่า (อสฟป.) กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการทำแนวกันไฟ ปลูกป่า ดูแลป่าและแหล่งน้ำ สร้างฝายชะลอความชื้น(Check dam) และมีความหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น ผสมผสานกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้ราษฎร “อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล”

ผู้รับผิดชอบ ติดต่อ:

สำนักราชเลขาธิการ

ปรับปรุงล่าสุด:

20 เม.ย. 2561 13:49 น. -