คืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

# ชื่อแผนงานโครงการ ประจำปี ความคืบหน้า
ยังไม่มีรายการในขณะนี้.
การใช้งบประมาณ

ความคืบหน้าโดยรวม

0

ที่ตั้ง
ความเป็นมา:

       สืบเนื่องจากที่สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้  (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปัจจุบัน) ได้จัดงานกล้วยไม้เอเซียแปซิฟิคครั้งที่ 4 (APOC 4) ระหว่างวันที่ 20 – 26 มกราคม พ.ศ.2535  ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2535  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเป็นองค์ประธานทรงเปิดงาน ในช่วงระหว่างทอดพระเนตรงานจัดนิทรรศการและการประกวดกล้วยไม้ ได้มีพระราชดำรัสกับ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ขณะนั้น) ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก  และ พล.ท.แป้ง   มาลากุล ณ อยุธยา (ยศขณะนั้น) ถึงกล้วยไม้ที่มีความสวยงามซึ่งนับวันจะสูญหายไป  ขอให้มีการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยไว้  ผู้เกี่ยวข้องได้นำเรื่องปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางสนองพระราชดำริดังกล่าว
       นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ได้รับพระราชดำริให้อนุรักษ์ และรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทยของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และทรงเปิดอุทยานกล้วยไม้ไทยที่สถาบันฯ จัดทำขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 36 พรรษา และจากพระกระแสรับสั่งของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีแก่คณะผู้บริหารสถาบันฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2535 ณ พระตำหนักดอยตุง ให้รวบรวมศึกษาขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทย และนำกลับคืนสู่ป่าที่ดอยตุงด้วย จากพระราชดำริของทั้ง 3 พระองค์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จึงร่วมกับกองทัพบก กรมป่าไม้ องค์กรเอกชน จึงได้จัดทำ “โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์” เพื่อสนองต่อเบื้องยุคลบาท ที่ได้ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์กล้วยไม้ไทยและนำคืนสู่ป่า
       จากความเป็นมาดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการเห็นควรให้ใช้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” น่าจะเป็นการเหมาะสมยิ่ง

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน:

คณะผลิตกรรมการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เป็นผู้ดำเนินการ  โดยนำกล้วยไม้ไทยที่ขยายพันธุ์ได้นำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติทั่วภาคเหนือและทั่วประเทศในอนาคต

วัตถุประสงค์ของโครงการ:

- เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539
- เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา รวบรวม ขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อสร้างจิตสำนึกให้รู้คุณค่า และร่วมรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ
- เพื่อสร้างคุณค่าให้ป่า และเป็นแหล่งศึกษาด้านธรรมชาติวิทยา

เป้าหมายโครงการ:

1. ศึกษาด้านนิเวศวิทยา แหล่งกำเนิด และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของกล้วยไม้ป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติแต่ละชนิด  เช่น  ความสูงจากระดับน้ำทะเล  ชนิดของพืชที่อาศัย ความเข้มของแสง และสภาพพื้นที่  เนื่องจากพืชบางชนิดมีแหล่งกำเนิดอยู่ในที่ที่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน  เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการนำกล้วยไม้กลับคืนสู่ป่าที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตต่อไป
2. รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่มีอยู่ในพื้นที่ของโครงการฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนกล้วยไม้ที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ จำเป็นที่จะต้องจัดหารวบรวม ดูแลรักษาและขยายพันธุ์อย่างเร่งด่วน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทยไว้แล้วหลายสิบสกุลและจำนวนหลายร้อยชนิด  เช่น  เอื้องคำปากไก่  เอื้องแซะ  เอื้องเงินหลวง  เอื้องตาเหิน  ฟ้ามุ่ย  รองเท้านารี  เป็นต้น
3. จำแนกสายพันธุ์  ทำพันธุ์ประวัติ  เช่น  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  การ เจริญเติบโต  การเจริญของดอก  ตลอดจนลักษณะพิเศษ  เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าและการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
4. การขยายพันธุ์  กล้วยไม้บางชนิดเจริญเติบโตรวดเร็ว  อาจจะใช้วิธีขยายพันธุ์โดยการแยกกอ  บางชนิดเหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ด แต่บางชนิดต้องใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนยอดหรือตาข้าง เป็นต้น เป้าหมายของการขยายพันธุ์  ตลอดโครงการฯ จำนวน  500,000 – 2,000,000  ต้น  สายพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์และขยายพันธุ์  คือ
      -   สกุล   Dendrobium                                                         จำนวน        10     ชนิด
      -   สกุล   Cymbidium                                                           จำนวน        18     ชนิด
      -   สกุล   Paphiopedilum                                                      จำนวน        18     ชนิด
      -   สกุล   Cymbidium                                                          จำนวน          5     ชนิด
      -   สกุล   Coelogyne                                                           จำนวน          5     ชนิด
      -   สกุล   Ascocentrum                                                        จำนวน          3     ชนิด
      -   สกุล   Rhynchostylis                                                        จำนวน          5     ชนิด
      -   สกุล   Vanda                                                                จำนวน        11     ชนิด
      -   สกุล   Vanilla                                                                จำนวน          1     ชนิด
      -   หมวด   Basitonae                                                          จำนวน        40     ชนิด
           (รวมกล้วยไม้ดินทั้งหมด)
      -สกุลอื่น ๆ
5. ศึกษาวิธีการเลี้ยงดูต้นพันธุ์และต้นอ่อน  ที่ขยายพันธุ์มาใหม่  ศึกษาวัสดุปลูกตลอดจนอายุที่เหมาะสมของกล้วยไม้แต่ละชนิดสำหรับการนำไปปลูกในป่า
6. นำต้นที่ขยายพันธุ์ขึ้นมาใหม่  คืนสู่ธรรมชาติหรือป่าที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  โดยเริ่มดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2538  เป็นต้นมา
7. ติดตาม  ศึกษาความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ  และประเมินผลในด้านการเจริญเติบโตและอัตราการอยู่รอดหลังจากนำไปปลูกแล้วอย่างสม่ำเสมอ
8. จัดทำเอกสารเผยแพร่ และทำการประชาสัมพันธ์โครงการฯ  เพื่อปลูกจิตสำนึกและความรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ  ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์
9. ศึกษาการสกัดน้ำหอมจากเอื้องแซะ   โดยขบวนการไม่ใช้สารเคมี    ตามแนวพระราชดำริรวมทั้งการสกัด DNA

ผลที่คาดว่าจะได้รับ:

1. รวบรวมพันธุ์และขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทย ได้ประมาณ  1,000  ชนิด
2. ขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยได้จำนวนไม่น้อยกว่า  1,000,000  ต้น (หนึ่งล้านต้น)
3. สร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อธรรมชาติให้มวลชนทั่วไป
4. ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา  ค้นคว้า  วิจัย  ในด้านกล้วยไม้ต่อไป
5. เป็นแนวทางในการทำงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
6. ขยายผลการดำเนินงานเพื่อขยายงานทั่วทุกภาคของประเทศ

ผู้รับผิดชอบ ติดต่อ:

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ปรับปรุงล่าสุด:

20 เม.ย. 2561 09:49 น. -