อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านโปง อำเภอสันทราย
# | ชื่อแผนงานโครงการ | ประจำปี | ความคืบหน้า | |
---|---|---|---|---|
ยังไม่มีรายการในขณะนี้. |
การใช้งบประมาณ
ความคืบหน้าโดยรวม
ที่ตั้ง
ความเป็นมา:
ความเป็นมาของโครงการโดยสรุป
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมอบให้ฝ่ายวิชาการ โครงการส่วนพระองค์ฯ เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ในปี 2539 สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินการทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ. 2535-2540 ทรงมีพระราชปรารภ พระราชดำริและพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับนายพิศิษฐ์ วรอุไร และนายพรชัย จุฑามาศ ในพระราชวโรกาสต่างๆ สรุปดังนี้
— ทรงมีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทรงเห็นมีพรรณไม้เก่าๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียนบางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่ แต่สวนเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพไป จึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดไป
— พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุ์ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย
— ตามเกาะต่างๆมีพืชพรรณอยู่มากแต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย
— พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเองจะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
— ทรงมีพระราชดำริ ให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 พระราชทานพระราโชวาทให้คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร ผู้ร่วมสนองพระราชดำริและผู้ทูลเกล้าฯถวาย ที่เฝ้าทูลละอองพระบาท ในการประชุมประจำปีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ร่วมสนองพระราชดำรินั้น เกิดขึ้นมาจาก ศ.พิเศษ ประชิดวามานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ของสำนักพระราชวังได้จัดส่งเอกสารและรายละเอียดต่างๆที่ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ น่าจะเข้าร่วมโครงการได้ คณะทำงานจึงสนองพระราชดำริในการจัดทำโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยในระยะแรกเป็นการร่วมมือร่วมใจกันทำงานในกลุ่มคณาจารย์โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน ในปีต่อๆมาใช้งบประมาณบางส่วนมาจากการสนับสนุนจากภาควิชา และจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สวนจิตรลดา
และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานของโครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมากจากพระราชดำริ ณ หมู่บ้านโปง ต่อจากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังแปลงสำรวจทรัพยากรพันธุกรรมพืช ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้น้อมเกล้าถวายพื้นที่บางส่วนในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สวนจิตรลดา คณะทำงานได้จะนิทรรศการพร้อมแบบจำลองพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์ ศึกษา และพัฒนาป่าบ้านโปง ให้ทอดพระเนตรและกราบบังคมทูลถวายรายงานการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในปี พ.ศ. 2537 ที่ผ่านมา ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับสภาพความชุ่มชื้นของป่าภายหลังจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ
นับจากระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 8 ปีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน:
หมู่บ้านโปง อยู่ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
ห่างจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประมาณ 6 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ราบประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเขาประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดำเนินการพื้นที่ทั้งหมด 3 แปลง รวม 290 ไร่
วัตถุประสงค์ของโครงการ:
1. เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
2. เพื่อทูลเกล้าฯถวายโครงการแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
3. เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
4. เพื่อให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่นักศึกษาเยาวชน และประชาชน
เป้าหมายโครงการ:
อนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพื้นที่ปกปัก และดำเนินงานในกิจกรรมดังนี้ กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช กิจกรรมการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช กิจกรรมปลูก รักษาพันธุกรรมพืช กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมข้อมูลพันุกรรมพืช กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทั้งนี้ ยังได้เน้นการศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ และการวิจัยและพัฒนาพืชมีศักยภาพในพื้นที่เพื่อเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมต่อไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ:
กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
— จะจัดทำเอกสารวิชาการของพันธุกรรมพืชที่ได้สำรวจแล้วทั้งหมด
— สำรวจและวินิจฉัยชื่อของพันธุกรรมพืช ในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม ในเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่
— จัดทำทะเบียนพันธุกรรมพืชเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 ชนิด
— จัดทำป้ายชื่อต้นไม้เพื่มเติม อีกประมาณ 300 ชนิด
กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
— สำรวจและเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช รวมทั้งเก็บรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพฤกษศาสตร์ เพิ่มเติมจากเดิมให้ครบถ้วนในพื้นที่หมู่บ้านรอบโครงการจำนวน 30 หมู่บ้าน
— ศึกษาและวินิจฉัยชื่อความหลากหลายของเห็ดราเพิ่มเติม
— ศึกษาชนิดของพรรณไม้น้ำเพิ่มเติม
กิจกรรมปลูก รักษาพันธุกรรมพืช
— ดำเนินงานต่อเนื่องจากในพื้นที่รวบรวมพืชสมุนไพร โดยการจัดทำป้ายชื่อ ทะเบียนประวัติ ประมาณ 100 ชนิด
— ศึกษาการเจริญเติบโตของพืชอื่นๆที่คาดว่าจะมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น พืชที่ใช้กำจัดแมลงประมาณ 10 ชนิด
— การขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพิ่มเติมอีกประมาณ 10 ชนิด
กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
— การวิเคราะห์ทางเคมีของพืชสมุนไพรที่ได้ขยายพันธุ์ไว้ เช่น เจตมูลเพลงแดง ขมิ้นชัน ดีปลี บุก
— ศึกษาการขยายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จำนวน 5 ชนิด
— ตรวจสอบและจำแนกสายพันธุกรรม โดยเทคนิคทางชีวโมเลกุลของพืช 5 ชนิด
— ศึกษาด้านกายวิภาคของพืชจำนวน 5 ชนิด
— เก็บรวบรวมสายพันธุ์พืช ที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จำนวน 5 ชนิด
กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
— จัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้แห้งเพิ่มเติม ให้ครบทุกชนิดที่สำรวจได้ในพื้นที่
— จัดทำข้อมูลพันธุกรรมพืช
กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
— งานจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ (สวนรุกขชาติ) ในพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำ 40 ไร่
— จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพิ่มเติม
— จัดทำพื้นที่นันทนาการเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
— จัดทำสื่อความหมายในการอนุรักษ์เพิ่มเติมในพื้นที่สวนรุกขชาติ
2. ดำเนินการกิจกรรมในชุมชน โดยจัดทำโครงการ ดังนี้
- โครงการการผลิตพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบครบวงจร
- การจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ เส้นทางศึกษาและจัดทำป้ายสื่อความหมาย ในพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำ
- โครงการศักยภาพของการใช้เฟินในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในการลดสารพิษที่ปนเปื้อนในดิน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเฟินในโครงการฯ ในการกำจัดสารหนูและตะกั่วที่ปนเปื้อนในดิน เพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์แบบยั่งยืน
- การศึกษาความหลากหลายของพรรณพืชในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บ้านโปง
- การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แลการใช้พื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพจากรากฐานทางวัฒนธรรมของชุมชน
- โครงการสวนสมุนไพร ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผู้รับผิดชอบ ติดต่อ:
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กองทัพอากาศ
ปรับปรุงล่าสุด:
20 เม.ย. 2561 09:53 น. -