จอมทอง 2018-06-19T11:04:53+00:00

Project Description

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแลกป่า พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่าง
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมา

DSC_3279

        เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมราษฎรที่โรงเรียนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีราษฎรชาวไทยภูเขา เผ่ากระเหรี่ยง ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง ประมาณ 200 คน เดินทางไปร่วมรับเสด็จเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีงานทำ เพราะเคยเป็นผู้เสพยาเสพติด หลังเลิกเสพยาแล้วไม่มีผู้ว่าจ้างทำงาน พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านขุนแตะขึ้นเป็นแห่งแรก สำหรับจัดจ้างแรงงานราษฎรที่ฐานะยากจนในพื้นที่เข้ามาทำงานในฟาร์มฯ เพื่อให้มีรายได้พร้อมกับเรียนรู้งานวิชาการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร จะได้ไม่ต้องไปบุกรุกทำลายป่า ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม ดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า “ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน”

วัตถุประสงค์
        1. ส่งเสริมราษฎรในพื้นที่โครงการ ฯ ให้มีรายได้เสริมจากการดำเนินงานฟาร์ม
        2. เป็นแหล่งอาหารให้ราษฎรในพื้นที่โครงการ ฯ
        3. เป็นแหล่งข้อมูลจากการสาธิตและทดลองของส่วนราชการที่ดำเนินกิจกรรมในฟาร์ม
        4. เป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดกรรมวิธีดำเนินกิจกรรมที่ได้ผล ราษฎรนำไปปฏิบัติเองโดยให้ใช้วัสดุ/อุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากที่สุด
        5. ขยายพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณโครงการ ฯ

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน     

บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่

 

การดำเนินงาน 

หลักการและแนวคิด
        เป็นการสนองพระราชดำริ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่าไม้ พร้อม น้อมนำพระราชดำรัสที่เกิดจากฟาร์มขุนแตะ ที่ว่า “ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน” มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิด คือต้องทำให้ราษฎรอยู่ดีกินดีก่อน แล้วจึงขอราษฎรช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายหลัง

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอน
        สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 โดยหน่วยโครงการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สวนป่าสิริกิติ์ที่ 11 (ฟาร์มขุนแตะ) ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
        1. ปีงบประมาณ 2555 ดำเนินการ
                 – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 100 แห่ง
                 – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร จำนวน 2 แห่ง
                 – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 39 ราย เนื้อที่รวม 34 ไร่ 2 งาน

        2. ปีงบประมาณ 2556 ดำเนินการ
                 – ก่อสร้างถนนคอนกรีตแบบ 2 ร่องล้อ จำนวน 5 แห่ง ระยะทางรวม 870 เมตร
                 – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 41 ราย เนื้อที่รวม 41 ไร่

         3. ปีงบประมาณ 2557 ดำเนินการ
                 – ก่อสร้างถนนคอนกรีตแบบ 2 ร่องล้อ จำนวน 1 แห่ง ระยะทาง 200 เมตร
                 – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 20 ราย เนื้อที่รวม 20 ไร่
                 – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 25 แห่ง

         4. ปีงบประมาณ 2558 ดำเนินการ
                 – ก่อสร้างถนนคอนกรีตแบบ 2 ร่องล้อ จำนวน 1 แห่ง ระยะทาง 200 เมตร
                 – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 24 ราย เนื้อที่รวม 24 ไร่
                 – ก่อสร้างบ่อคอนกรีตสำหรับเก็บพักน้ำ ขนาด 5*5 เมตร พร้อมระบบประปาภูเขา จำนวน 1 แห่ง

          5 ปีงบประมาณ 2559 ดำเนินการ
                  – ก่อสร้างถนนคอนกรีตแบบ 2 ร่องล้อ จำนวน 1 แห่ง ระยะทาง 200 เมตร
                  – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 20 ราย เนื้อที่รวม 20 ไร่
                  – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 25 แห่ง
                  – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร จำนวน 2 แห่ง
                  – ก่อสร้างบ่อคอนกรีตสำหรับเก็บพักน้ำ ขนาด 5*5 เมตร พร้อมระบบประปาภูเขา จำนวน 2 แห่ง

          6. ปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการ
                  – กิจกรรมส่งเสริมราษฎรปลูกไม้ผลยืนต้น (อะโวคาโด้) เพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว (กะหล่ำปลี) จำนวน 30 ราย พื้นที่ 30 ไร่
                  – ขุดนาขั้นบันได (โครงการนาแลกป่า) ให้ราษฎร 20 ราย เนื้อที่รวม 20 ไร่
                  – ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 20 แห่ง
                  – ก่อสร้างบ่อคอนกรีตสำหรับเก็บพักน้ำ ขนาด 5*5 เมตร พร้อมระบบประปาภูเขา จำนวน 2 แห่ง
                  – ระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรกรรม จำนวน 1 โครงการ

ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ได้รับ
                 1. เพื่อให้ราษฎรมีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคได้ครบทุกครัวเรือน
                 2. เพื่อสร้างแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน และการเกษตรกรรมอย่างพอเพียง
                 3. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านคมนาคมในช่วงฤดูฝน ทำให้ราษฎรสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้ทันเวลา เด็กนักเรียนสามารถไปโรงเรียนได้สะดวก
                 4. เพื่อให้ราษฎรรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ ให้คงความอุดมสมบูรณ์

ปัจจัยความสำเร็จ
         ราษฎรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านขุนแตะ มาให้ราษฎรมีรายได้และเรียนรู้วิชาการเกษตร อีกทั้งมีหน่วยงานร่วมของโครงการ ได้ช่วยกันดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องบุกรุกป่า ขยายที่ดินทำกิน แต่หันมาร่วมกันอนุรักษ์ป่า ป้องกัน ดูแลไฟป่าด้วยตนเอง มีกฎระเบียบของหมู่บ้านที่ทุกคนยอมรับ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ปลอดยาเสพติด ไม่มีการจำหน่ายสุรา สิ่งมึนเมาในหมู่บ้าน
        ปัจจุบันสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีปริมาณน้ำท่า สำหรับใช้ในการบริโภค อุปโภคได้ตลอดทั้งปี

ข้อมูลติดต่อโครงการ

บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่