ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทำให้พวกเราชาวไทยได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจน ห่างไกล และทุรกันดาร ซึ่งพระองค์จะทรงใช้เวลาประทับอยู่ตามเขตภูมิภาคมากกว่าในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหาข้อมูลที่แท้จริงจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสังเกตการณ์ และสำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้สำหรับการพระราชทานแนวทางเพื่อการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริต่อไป พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแก่ปวงราษฎรไทยทั้งหลายในระยะต้นแห่งการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น เป็นพระราชดำริด้านการแพทย์และงานสังคมสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว กิจการด้านการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร อีกทั้งการบริการสาธารณสุขในชนบท ก็ยังมิได้แพร่หลาย ๐พระราชกรณียกิจในระยะช่วงแรก ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๐๕ จะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ยังไม่ได้เป็นโครงการเต็มรูปแบบอย่างในปัจจุบัน พระราชดำริเริ่มแรกที่เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง ซึ่งได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหาร และการเกษตร แห่งสหประชาชาติ เข้าไปเลี้ยงในสระน้ำของพระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศนี้แก่กำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ เพื่อจะได้นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น โครงการพระราชดำริที่นับได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถบูลโดเซอร์ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ไปสร้างถนนเข้า ไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมา และนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ และบรรลุวัตถุประสงค์ มีหลักการสำคัญ ดังนี้ |
๑. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า |
โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขอย่างรีบด่วน เช่น กรณีเขตพื้นที่อำเภอ ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง เป็นเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาและเป็นพื้นที่ยากจนในเขตอิทธิพลของ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขบวนการพัฒนาของ รัฐยังเข้าไปไม่ถึง ในช่วงระยะเวลานั้น ภายหลังจากมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปดำเนินการแล้ว ปัญหาความมั่นคงที่เคยมีอยู่ก็ลดน้อยถอยลง และหมดสิ้นไปในที่สุด แม้กระทั่งปัจจุบัน โครงการที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจะมีผลระยะ ยาวต่อไปคือ การแก้ไขปัญหาจราจร และการป้อง กันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น |
๒. การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน |
พระองค์ทรงเน้นการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ในลักษณะของการพึ่งตนเอง โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือราษฎรตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานภาพ เมื่อราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ ก็จะสามารถออกมาสู่สังคมภายนอกอย่างไม่ลำบาก |
๓. การพึ่งตนเอง |
เมื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ก็จะเป็นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพ ในลักษณะของการพึ่งตนเอง ตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เน้นหลัก “การพึ่งตนเอง” เพื่อพัฒนาแก้ไข ปัญหาความยากจนของราษฎร เช่น โครงการธนาคารข้าว โครงการธนาคารโค-กระบือ และโครงการพัฒนาที่ดินตาม พระราชประสงค์ “หุบกระพง” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการเพื่อให้ประชา ชนมีที่อยู่อาศัยทำกิน และรวมตัวกันในรูปของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน และการทำมาหากินร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนั้น โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ ในระยะหลังก็ล้วนแต่เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยตัวเองได้ เพราะเป็นโครงการ ที่ สนับสนุนให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพให้ได้ผล และมีประสิทธิภาพ เช่น การ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การให้การอบรมความรู้สาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร และศิลปาชีพพิเศษ เป็นต้น |
๔. การส่งเสริมความรู้ และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม |
ด้วยพระราชประสงค์ที่ต้องการให้ราษฎรได้รับในสิ่งที่ขาดแคลน และต้องมีตัวอย่างของความสำเร็จ จึงทรงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง วิจัย และแสวงหาความรู้สมัยใหม่ที่ราษฎรรับได้ และนำไปดำเนินการเองได้ โดยต้องเป็นวิธีการที่ประหยัด เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม |
๕. การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ |
จากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงโดยมิได้มีการฟื้นฟูขึ้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ของราษฎรในพื้นที่ต่างๆ |
๖. การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม |
จากการที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนไป สู่การผลิตที่มีภาคอุตสาหกรรม และบริการเป็นหลัก ทำให้สังคมไทยเริ่ม เปลี่ยนจากสังคมชนบท สู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ปัญหาที่เกิดตามมาคือปัญหาทางด้านความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการ กำจัดน้ำเสีย ใน กรุงเทพมหานคร และในเมืองหลัก ในต่างจังหวัดด้วยวิธีการต่าง ๆ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ |
โครงการตามพระราชประสงค์ |
คือโครงการที่ทรงศึกษา ทดลอง ปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ จนเมื่อทรงแน่พระราชหฤทัยว่าโครงการนั้น จะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์กับประชาชน จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อไป
|
โครงการหลวง |
พื้นที่ดำเนินการของโครงการหลวงส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตภาคเหนือ เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยภูเขา ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้อยู่ดี กินดี เลิกการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย อีกทั้งยังทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารบริเวณป่าเขา เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตที่ลุ่มด้านล่าง ซึ่งการพัฒนาต่างๆ กว่าจะเกิดผล ล้วนแต่กินเวลานานนับสิบปี ซึ่งชาวไทยภูเขาเหล่านี้ ได้มีความจงรักภักดีในพระองค์ท่าน พร้อมทั้งเรียกขานพระองค์ท่านว่า “พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า “แม่หลวง” รวมถึงเรียกโครงการของทั้งสองพระองค์ว่า “โครงการหลวง”
|
โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ |
โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ คือโครงการที่พระองค์ทรงพระราชทานข้อแนะนำ หรือแนวพระราชดำริให้ไปดำเนินการ ซึ่งโครงการประเภทนี้ จะดำเนินการโดยหน่วยงานเอกชน เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัด และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ โครงการพจนานุกรม โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น
|
โครงการตามพระราชดำริ |
จะเป็นโครงการที่พระองค์ทรงวางแผนพัฒนา และทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ปัจจุบัน โครงการตามพระราชดำรินี้ เรียกว่า “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีลักษณะเป็นโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งเพื่อการศึกษา ค้นคว้าทดลองและงานวิจัย โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ มีทั้งที่เป็นโครงการระยะสั้น และโครงการระยะยาว
ในการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งการศึกษาข้อมูลจากเอกสารและการศึกษาข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงก่อนจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้พระองค์มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินการอยู่เสมอว่า แนวพระราชดำริของพระองค์ เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรจะต้องนำพิจารณา วิเคราะห์ และกลั่นกรองตามหลักวิชาการ หากมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเกิดประโยชน์คุ้มค่า จึงจะลงมือปฏิบัติต่อไป แต่หากไม่เกิดประโยชน์ ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ ก็สามารถล้มเลิกได้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานงานและประสานแผนต่างๆ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่รับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปปฏิบัติ คือสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ซึ่งนอกจากการประสานงานในแต่ละขั้นตอนแล้ว สำนักงาน กปร. ยังจะได้ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโครงการต่างๆ เหล่านั้นเมื่อมีโอกาส เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้า และติดตามผลงานต่างๆ ด้วยพระองค์เอง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปีงบประมาณ ๒๕๒๕ – ๒๕๔๖ มีจำนวน ๓,๒๙๘ โครงการ แยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ๘ ประเภท คือ |
๑. การเกษตร |
แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง |
๒. สิ่งแวดล้อม |
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องได้รับการดำเนินการแก้ไขควบคู่ไปกับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า เพราะยิ่งมีความเจริญก้าวหน้า ย่อมหมายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นเงาตามกันไป ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ |
๓. การสาธารณสุข |
โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ให้กับประชาชนในระยะแรก ๆ ล้วนแต่เป็นโครงการ ด้านสาธารณสุข เพราะพระ องค์ทรงเห็นว่า หากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก |
๔. การส่งเสริมอาชีพ |
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว จะเกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรใน พื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้งหลายนั้น จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทาง และวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงนั้นก็มีจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ จึงได้มีโครงการเกี่ยวกับประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรง |
๕. การพัฒนาแหล่งน้ำ |
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่า เป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ ประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะ ปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำ ให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความ สนพระราชหฤทัย เกี่ยวกับการ พัฒนาแหล่งน้ำ มากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริประเภทอื่น |
๖. การคมนาคมสื่อสาร |
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านคมนาคมสื่อสาร ส่วนใหญ่ จะเป็นโครงการเกี่ยวกับปรับปรุงถนนหนทาง การก่อสร้างถนนเพื่อการ สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ สำคัญของการนำความเจริญไปสู่ชนบท การสื่อสาร ติดต่อที่ดียังผล สำคัญทำให้เศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น ราษฎรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น |
๗. สวัสดิการสังคม |
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านสวัสดิการสังคม จะเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และได้ รับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความผาสุข |
๘. อื่นๆ |
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่นๆ ได้แก่ โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่นอกเหนือจากโครงการทั้ง ๗ ประเภท ที่ ระบุมาแล้วข้างต้น เช่น โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลาย โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนั้นยัง รวมถึงโครงการด้านการศึกษา การวิจัย การจัดและพัฒนาที่ดิน เป็นต้น |
ที่มา : เว็บไซต์ เรารักพระเจ้าอยู่หัว