Project Description
โครงการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ความเป็นมา
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่เกิดจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ที่ต้องการให้ชาวเขาบนดอยเลิกปลูกฝิ่น หยุดการตัดต้นไม้ และทำไร่เลื่อนลอย จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินบริเวณดอยอ่างขาง และใช้เป็นสถานีวิจัย ทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น และเพื่อให้ชาวเขาได้ตั้งหลักแหล่งที่อยู่ที่แน่นอน ไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปที่อื่น อันเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรในการวิจัยประมาณ 1,811 ไร่ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) งานวิจัยเกษตรบนพื้นที่สูง (2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรบนพื้นที่สูง (3) งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร โดยมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วยประชากร 4 ชนเผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนยูนนาน
วัตถุประสงค์
1. เป็นสถานีดำเนินงานวิจัยหลักของโครงการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวและงานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง
2. เป็นสถานที่ ฝึกอบรม และเผยแพร่ผลงานแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร
3. ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ แก่เกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหลวง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
การดำเนินงาน
หลักการและแนวคิด
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นตลอดปี ดังนั้นจึงเป็นสถานีหลักในการศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาวของโครงการหลวงนับเป็นสถานีวิจัยไม้ผลเมืองหนาวที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่
1 งานรวบรวมและศึกษาพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวชนิดต่างๆ เช่น พี้ช, สาลี่, พลับ, พลัม, บ๊วย, กีวีฟรุ้ท และสตรอเบอรี่
2 งานศึกษาพันธุ์ไม้โตเร็วชนิดต่าง ๆ และไผ่ต่าง ๆ สำหรับใช้ปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย เช่น ไม้โตเร็ว กระถินดอย, เมเปิลหอม, จันทร์ทอง ฯ,
เพาโลเนีย และไผ่หวานอ่างขาง, ไผ่หยก
3 งานศึกษาและทดสอบพันธุ์ไม้ตัดดอก บางชนิด เช่น กุหลาบ, ฟรีเซีย, โปรเทีย ไม้หัวและไม้ดอกกระถาง
4 งานศึกษาและรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพร พืชผักเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ และผักใหม่ชนิดต่าง ๆ
5 งานศึกษาพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวสาลี, ลินิน
เนื่องจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นแหล่งทางวิชาการปลูกพืชบนที่สูงที่สำคัญของประเทศในแต่ละปีใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิฯ จำนวนมากประกอบกับมีผู้สนใจจากองค์กรและสถาบันต่างๆ เข้าเยี่ยมชมและดูงานเป็นอันมาก มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดสร้างอาคารฝึกอบรมการเกษตรที่สูง ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมและเผยแพร่งานของโครงการหลวงในด้านต่างๆให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวง ส่วนราชการ ผู้สนใจ และ แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม 2540
ด้านการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขาบริเวณรอบๆ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวม 4 เผ่า ได้แก่ ปะหล่อง มูเซอ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ โดยมีส่วนราชการต่างๆ ร่วมดำเนินงานในรูปคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผนการใช้ที่ดิน การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ไม้ตัดดอก พืชผัก ชาจีน การผลิตไหลสตอเบอรี่ การฟื้นฟูระบบนิเวศ ในพื้นที่ต้นน้ำโดยการฟื้นฟูป่าโดยธรรมชาติและการปลูกป่าชาวบ้าน งานส่งเสริมที่นำไปสู่เกษตรกร
กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
ในด้านการท่องเที่ยว มีการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวภายในชุมชน เช่น กิจกรรมด้านงานหัตถกรรม ได้แก่ การทำกำไลหญ้าอิบูแค การทอผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ด้วยสีย้อมธรรมชาติ กิจกรรมด้านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ อบรมมัคคุเทศก์น้อย อบรมการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่พักและร้านอาหาร อบรมมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร ให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Tasts) จากสาธารณสุข
ด้านงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพันธุ์และปลูกหญ้าแฝกซ่อมแซมในแปลงปลูกพืชต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ กิจกรรมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น ให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด สำหรับใช้ในแปลงปลูกพืชผักของเกษตรกร ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การรณรงค์ลดการใช้สารเคมีและการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การรณรงค์และรวบรวมขยะมีพิษ เป็นต้น
ด้านงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าชาวบ้านตามแนวรั้ว และในสวนของเกษตรกร เพื่อสามารถนำไม้มาใช้ประโยชน์ได้ กิจกรรมด้านการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ และการทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น
ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ที่ได้รับ
ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากพืชหลักที่มีอยู่เดิม คือไม้ผลและไม้ดอกแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากอาชีพนอกภาคเกษตร เช่น การจำหน่ายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว ทำให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ย ประมาณ 60,000 บาท ต่อปี
ปัจจัยความสำเร็จ
การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีสุขภาพที่ดีปราศจากโรคภัยต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานการรับรองจากที่ต่างๆ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจะทำให้พัฒนาเกิดความสำเร็จและยั่งยืน เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
บทเรียนที่ได้รับ
การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีสุขภาพที่ดีปราศจากโรคภัยต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานการรับรองจากที่ต่างๆ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลติดต่อโครงการ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหลวง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่