สะเมิง 2018-06-19T10:38:52+00:00

Project Description

โครงการส่งเสริมสหกรณ์นักเรียนโรงเรียนรัปปาปอร์ต (ตชด.บำรุงที่๙๒)
(ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี)

ความเป็นมา

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่า การปลูกฝังสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากโรงเรียนเป็นอันดับแรก จะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในกลุ่มของเด็กนักเรียน ตลอดจนครูและประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การรวมกลุ่มกันในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีพระราชกระแสกับอธิบดีกรมตำรวจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภู่ต่าง อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ให้ดำเนินการสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมีพระราชกระแสกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔ ให้ส่งเสริมวิธีสหกรณ์ให้แพร่หลายไปยังเด็กนักเรียน จึงได้เริ่มดำเนินโครงการการส่งเสริมสหกรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา
         สำหรับโรงเรียนรัปปาปอร์ต(ตชด.บำรุงที่๙๒)ได้น้อมนำพระราชกระแสดังกล่าว มาปฏิบัติตั้งแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำการมอบโอนจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๓ มาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต ๒ โดยทางโรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการตามพระราชดำริฯ ดังกล่าว จึงมีการดำเนินกิจกรรมโครงการส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรม หลักอยู่ ๓ กิจกรรม คือ
         ๑. กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้า
         ๒. กิจกรรมออมทรัพย์นักเรียน
         ๓. กิจกรรมส่งเสริมการผลิต(มี ๓ กิจกรรมย่อย)
              ๓.๑ กิจกรรมเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน
              ๓.๒ กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล
              ๓.๓ กิจกรรมประมงโรงเรียน(กิจกรรมเลี้ยงปลา)
              ซึ่งทั้ง ๓ กิจกรรมหลักและ ๓ กิจกรรมย่อยในโครงการส่งเสริมการผลิตนั้น เป็นกิจกรรมที่นำมาเชื่อมโยงทางด้านการบัญชี และการตรวจสอบประเมินโครงการตามสภาพจริง ทางโรงเรียนรัปปาปอร์ต(ตชด.บำรุงที่ ๙๒) ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ จึงขอน้อมนำถวายการดำเนินงานภายได้โครงการพระราชดำริฯ ของพระองค์ท่าน นำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเพื่อมุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางด้านทักษะอาชีพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่หระบวนการผลิตไปจนถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้วยหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ให้เกิดสัมฤทธิผล

วัตถุประสงค์
          เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะทางด้านสหกรณ์และสร้างคุณลักษณะนิสัยที่สอดคล้องกับหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนรัปปาปอร์ต (ตชด.บำรุงที่๙๒)

หลักการและแนวคิด
ตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ปี โดยสรุป มีการแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น ๖ ด้านแต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมสหกรณ์ คือ
         1. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
         2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
         3. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
         4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมทั้งคำนึงถึง ๓ เสาหลักอาเซียน ประกอบด้วย
              ๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
              ๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
              ๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและตั้งแต่แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุกรกันดารระยะที่ ๑- แผนฉบับที่ ๕ (๒๕๖๐-๒๕๖๙) ได้ให้ความรู้เรื่องการสหกรณ์แก่ครูและนักเรียน และมีการจัดกิจกรรมร้านค้า กิจกรรมออมทรัพย์ จัดมุมสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติการทำงานตามระบบสหกรณ์ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้นักเรียนและครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจในหลักและวิธีการสหกรณ์มากขึ้น ในด้านประชาชนได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน แต่ก็ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพของตนเองตามระบบสหกรณ์ได้
              จากวิสัยทัศน์ : “โรงเรียนรัปปาปอร์ต มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นมนุษย์ที่มีความสมดุล ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีความรู้คู่คุณธรรมมีจิตสาธารณะ มีความเป็นไทย ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยชุมชนมีส่วนร่วม”
อัตลักษณ์ชองโรงเรียน : “มีวิถีชีวิตพอเพียง”
เอกลักษณ์ : “สนองงานตามโครงการพระราชดำริฯ”
คำขวัญ : “รักสะอาด มารยาทดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

         จากยุทธศาตร์ชาติวิสัยทัศน์ประเทศ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และนโยบายทางด้านการศึกษาและพัฒนาประเทศ ทางโรงเรียนจึงได้หลอมรวมนำมาจัดทำเป็นวิสัยทัศน์ อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ รวมถึงคำขวัญของโรงเรียน สู่การดำเนินกิจกรรม โครงการส่งเสริมสหกรณ์นักเรียนโรงเรียนรัปปาปอร์ต (ตชด.บำรุงที่๙๒)

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน     

โรงเรียนรัปปาปอร์ต (ตชด.บำรุงที่๙๒)
เลขที่ ๑๔๓ หมู่ ๘ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

 

การดำเนินงาน 

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน(วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
        ขั้นเตรียมการ
              – ประชุม คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อวางแผน ดำเนินการคัดเลือกกิจกรรมดีเด่น(Best Practice) และกำหนดวิธีการดำเนินงาน
        กระบวนการดำเนินงาน
              – การวางแผน(Plan) แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน กำหนดกิจกรรมในแต่ละด้านประชุมคณะกรรมการตามปฏิทินการปฏิบัติงาน
             – การดำเนินงานตามแผนงานโครงการและกิจกรรม (Do)
                       ๑. กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้า
                       ๒. กิจกรรมออมทรัพย์นักเรียน
                       ๓. กิจกรรมส่งเสริมการผลิต(มี ๓ กิจกรรมย่อย)
                            ๓.๑ กิจกรรมเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน
                            ๓.๒ กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล
                            ๓.๓ กิจกรรมประมงโรงเรียน (เลี้ยงปลาดุก,ปลานิล)
              – การตรวจสอบ (Check)
                       ๑. แบบสังเกตและสัมภาษณ์และแบบสอบถามการดำเนินกิจกรรม
                       ๒. แบบรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการตามพระราชดำริฯ (กพด.)
                       ๓. ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานทุกเดือน
              – การรายงานเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา (Act)
                       ๑. สรุปผลการดำเนินงาน(มีนาคมทุกปี)
                       ๒. ปรับปรุงพัฒนาและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน
                       ๓. จัดทำรูปเล่มสรุปรายงานและเผยแพร่โครงการ

ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ

๑. ด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย
      – นักเรียนได้รับสารอาหารครบ ๕ หมู่ ครบทั้ง ๕ มื้อ/สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนได้รับอาหารที่ถูกหลักโภชนาการทุกคน คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๑๖
      – นักเรียนไม่เป็นโรคภาวะคอพอก คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
๒. ด้านการศึกษา
      – นักเรียนในชุมชนได้รับโอกาสทางการศึกษาคิดเป็น ร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนได้รับความรู้ตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
๓. ด้านการส่งเสริมอาชีพ
      – นักเรียนมีเจตคติที่ดีในการประกอบอาชีพสุจริต คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักการและดมการสหกรณ์ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมโครงการส่งเสริมสหกรณ์ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
      – นักเรียนมีความรู้และทักษะเบื้องต้นในการดำเนินกิจกรรม
              ๑ กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว คิดเป็นร้อยละ ๕๙.๐๔
              ๒. กิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่คิดเป็นร้อยละ ๕๙.๐๔
              ๓. กิจกรรมการเลี้ยงปลา คิดเป็นร้อยละ ๕๙.๐๔
(เฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษา ๑๑๑ คนยกเว้นอนุบาล ๗๗ คนไม่ได้ร่วมกิจกรรม)
๔. ผลงานดีเด่นที่เคยได้รับในปีการศึกษา ๒๕๕๙
      – รางวัลชนะเลิศ การบันทึกการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์
      – รางวัลชมเชย การบันทึกบัญชี
      – รางวัลชมเชย แข่งบันทึกวาระการประชุม
      – ชนะเลิศคะแนนรวม กิจกรรมการทัศนศึกษาดูงาน ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์

ปัจจัยความสำเร็จ
        – ความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่ช่วยเหลือกัน ในการบริหารจัดการ ด้วยความเสียสละ อดทน ซื่อสัตย์ ร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างปฏิบัติงาน จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
       – ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก หน่วยงานร่วมสนองงานโครงการตามพระราชดำริฯ
คือ อำเภอสะเมิง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรอำเภอสะเมิง และเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสะเมิง และปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานประมงจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสะเมิง และสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ น่วยงานต้นสังกัด ผู้บริหารและคณะครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน
       – การบริหารจัดการภายในกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยยึดหลัก ธรรมาภิบาล ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน(หลักนิติธรรม,หลักคุณธรรม,หลักความโปร่งใส,หลักการมีส่วนร่วม,หลักความรับผิดชอบและหลักความคุ้มค่า)

บทเรียนที่ได้รับ/ประโยชน์ที่ได้รับ
๑. ด้านนักเรียน
      – อาหารและสุขภาพอนามัย
            ๑. นักเรียนมีสุขภาวะที่ดี มีพัฒนาการตามวัย
            ๒. นักเรียนได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและถูกสุขลักษณะ
            ๓. นักเรียนมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ
            ๔. นักเรียนมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์
      – การศึกษา
            ๑. นักเรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน
            ๒. นักเรียนได้เรียนรู้หลักสูตรตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์
            ๓. นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมโครงการส่งเสริมสหกรณ์
      – การส่งเสริมอาชีพ
            ๑. นักเรียนมีทักษะขั้นพื้นฐานในการจัดทำบัญชี รับ-จ่าย
            ๒. นักเรียนมีความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ เกษตรกรรม,ปศุสัตว์,ประมง
            ๓. นักเรียนได้รับการปลูกฝังในด้านคุณธรรม จริยธรรม ตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ คือ “หลักการสหกรณ์” (Cooperative Principles)
หลักการสหกรณ์ คือ “แนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม” ซึ่งประกอบด้วยหลักการที่สำคัญรวม 7 ประการกล่าวคือ
หลักการที่ 1 การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง(Voluntary and Open Membership)
หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Member Control)
หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก (Member Economic Participation)
หลักการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ (Autonomy and Independence)
หลักการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ (Education, Training and Information)
หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (Cooperation among Cooperatives)
หลักการที่ 7 การเอื้ออาทรต่อชุมชน (Concern for Community)

๒. ด้านสถานศึกษาหน่วยงานภาครัฐ/เอชน และชุมชน
         – ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการสนองงานโครงการตามพระราชดำริฯ ด้วยความเต็มใจและภาคภูมิใจ

ข้อมูลติดต่อโครงการ

โรงเรียนรัปปาปอร์ต (ตชด.บำรุงที่๙๒)
เลขที่ ๑๔๓ หมู่ ๘ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่