Project Description
เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2560
ความเป็นมา
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายให้ดำเนินการโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อให้บริการนักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีคุณค่าทางโภชนาการ อันจะช่วยให้นักเรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีภูมิต้านทานโรค และเมื่อนักเรียนมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ย่อมส่งผลให้มีการพัฒนาการด้านร่างกายจิตใจและสติปัญญาดีขึ้นด้วย นักเรียนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างเต็มศักยภาพ
อำเภอสันกำแพงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดทำโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และสนองตอบนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดทำโครงการอาหารกลางวันนักเรียน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมีคุณค่าทางโภชนาการ อันจะช่วยให้นักเรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไป
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน
โรงเรียนวัดสันกลางเหนือ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
การดำเนินงาน
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้เรียนมีสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร
- เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
- มีแหล่งเรียนด้านการเกษตร และแหล่งพันธ์ดีสู่ชุมชน
- นักเรียนมีความรู้ทักษะทางด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สามารถพึ่งพาตนเองและนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้
หลักการและแนวคิด
จากปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากของผู้ปกครองในท้องถิ่น ทำให้เยาวชนมักจะขาดแคลนอาหารจากการผลิตที่ไม่พอเพียงและการบริโภคไม่ถูกต้อง ทำให้เยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว เติบโตอย่างไม่มีคุณภาพร่างกายอ่อนแอ ประกอบกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนา
จะนำไปสู่การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทั้งร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพทำให้เด็กเติบโตอย่างคนที่มีคุณภาพ เป็นกำลังที่จะช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองและประเทศชาติต่อไป ทรงเริ่มต้นการดำเนินงานในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและขยายผลต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ ศูนย์บริการ การศึกษานอกโรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง ร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียนแล้วนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพต่อไป
กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
1. อำเภอประสานให้โรงเรียนจัดทำรายละเอียดกิจกรรม/โครงการที่จะดำเนินการ
2. โรงเรียนจัดเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์การดำเนินการกิจกรรม เช่น กิจกรรมการเลี้ยงปลาดุกในกระชัง กิจกรรมการเลี้ยงกบในกระชัง กิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้า กิจกรรมเลี้ยงไข่ไก่และกิจกรรมปลูกพืชไร้ดิน ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการมาจากการเสนอโครงการ
ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
1. นักเรียนรับประทานอาหารกลางวันครบทุกคนและได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการทำให้สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่ดี ส่งผลให้นักเรียนมีน้ำหนักส่วนสูงมีสมรรถภาพทางกายตามเกณฑ์มาตรฐาน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนได้อย่างมีความสุข
2. นักเรียนมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์
3. เกิดความมั่นคงด้านอาหารในโรงเรียน ครัวเรือนและชุมชนอย่างยั่งยืน
4. เกิดการบูรณาการการเรียนรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
5. ให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ และตระหนักในด้านการเกษตร อาหารโภชนาการ และสุขภาพอนามัย
6. ให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อให้เกิดรายได้ รวมถึงการประกอบอาชีพในอนาคต
ปัจจัยความสำเร็จ
1.นักเรียนมีความเข้าใจในการดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริ
2. นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนร่วมกันวางแผนร่วมกันได้
บทเรียนที่ได้รับ
- นักเรียนสามารถนำแนวทางการดำเนินโครงการไปพัฒนาต่อยอดได้
- นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
ข้อมูลติดต่อโครงการ
โรงเรียนวัดสันกลางเหนือ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่