สันป่าตอง 2018-06-19T11:10:52+00:00

Project Description

ศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ
อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมา

sanpatong5

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาอาชีพของราษฎร” ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณแนวชายแดน ซึ่งกองทัพบกได้สนองพระราชดำริ โดยการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากในอดีตการเดินทางไปปฏิบัติงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีระยะทางที่ห่างไกลทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก คณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริในขณะนั้นซึ่งมี ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรมีสถานีกลางที่ใช้เป็นสถานที่พักเตรียมลำเลียงอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และกล้าไม้ เพื่อนำไปปฏิบัติงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้น จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดซื้อที่ดินจำนวน 6 ไร่ 47 ตารางวา เมื่อเดือนตุลาคม 2522 ต่อมา พลโทสีมา ปาณิกบุตร แม่ทัพภาคที่ 3 ในขณะนั้นได้ติดต่อขอซื้อพื้นที่ดินข้างเคียงเพิ่มอีก 14 ไร่ 81 ตารางวา ทำให้พื้นที่โครงการรวม 20 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 8 ตำบลมะขุนหวาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อโครงการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2522 ว่า “ศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง” โดยมีกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ฯ เป็นหน่วยดูแลและประสานการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์
        1 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบบูรณาการอย่างครบวงจร ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป
        2 เพื่อเพิ่มความสามารถและโอกาสในการผลิตและประกอบอาชีพให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
        3 เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับประชาชนและนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

หลักการและแนวคิด
        ศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยเป็นสถานีกลางใช้ในการพักเตรียมปัจจัยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในขณะเดียวกันศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง ได้ดำเนินงานเป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรเชิงบูรณาการ และศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และยังมีจุดอ่อนในด้านการบริหารจัดการอยู่มาก รวมทั้งกระแสการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโครงการ ฯ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้มีการบูรณาการภายในองค์กรให้มากขึ้น ดังนั้น จึงได้โครงการบูรณาการที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้ครบถ้วน สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มู่งสู่ประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน     

 

 การดำเนินงาน

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
๑. มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อบริหารจัดการงานของศูนย์ฯ ที่มีการบูรณาการจากหลายภาคส่วน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชุด ได้แก่
        ๑. คณะกรรมการที่ปรึกษา
        ๒. คณะกรรมการอำนวยการ
        ๓. คณะกรรมการระดับพื้นที่
๒. มีคณะทำงานที่มาจาก ๕ กระทรวง ได้แก่
        ๑. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
        ๒. กระทรวงกลาโหม
        ๓. กระทรวงมหาดไทย
        ๔. กระทรวงศึกษาธิการ
        ๕. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๓. มีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ
๔. มีการกำหนดกรอบแนวคิดในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานบูรณาการ ดังนี้
        เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ คือ “เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบบูรณาการครบวงจร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกร นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป” จึงกำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานศูนย์ฯ โดยยึดแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบการดำเนินงาน ดังนี้
        4.1 ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการดำเนินงาน มุ่งพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรทุกมิติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้สืบสานการทรงงาน สำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัสและสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้
        4.2 มุ่งบริหารจัดการดำเนินงานในลักษณะองค์รวมแบบบูรณาการโดยมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนโดยมี “แผน” เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน มีเป้าหมายชัดเจน และสามารถวัดผลได้
5. ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
        1. การสาธิต และจุดเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
        2. การฝึกอบรม เผยแพร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
        3. การสนับสนุนส่งเสริมการประกอบอาชีพการเกษตรในครัวเรือนเกษตรกร
        4. การจัดนิทรรศการ และการเยี่ยมชมศึกษาดูงาน
        5. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
        6. การติดตาม และประเมินผล
        7. กิจกรรมประชาสัมพันธ์

ผลสัมฤทธิ์
       1. เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับพืชใหม่ๆ เป็นพืชทางเลือก สามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมได้
       2. เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไป ที่เข้ามาศึกษาดูงาน
เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน
       3. เกษตรกรนำเอารูปแบบการทำเกษตรผสมผสานโดยมีไม้ผลเป็นพืชหลัก ไปปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง
ทำให้เพิ่มรายได้นอกฤดูปลูกปกติมากยิ่งขึ้น
       4. เป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ขยายผลให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนที่สนใจมาศึกษาดูงาน
       5. ทรัพยากรดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น รักษาความชุ่มชื้นในดิน สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       6. เกษตรกรสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
ลดการใช้สารเคมี ส่งผลให้เกษตรกรมีความปลอดภัยต่อสุขภาพในการผลิตพืช
        7. ผู้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับสหกรณ์ สามารถประยุกต์แนวคิดในรูปแบบการรวมกลุ่มแบบสหกรณ์
ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เป็นผู้นำของคนในชุมชนในการนำอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ
        8. ได้กลุ่มอาชีพที่เข้มแข็งและมีกิจกรรมในกลุ่มอาชีพต่อเนื่องตลอดปี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้คนในชุมชนมีรายได้และมีงานทำ
        9. สืบสานพระราชปณิธาน เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
       10. เกษตรกรมีความพอประมาณในทุกอย่าง มีเหตุผลในการตัดสินใจ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเองพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงมีการแสวงหาความรู้ มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
       11. ชุมชนเกิดสังคมความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต มีฐานการเรียนรู้ เป็นชุมชนที่น่าอยู่ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเอื้ออาทร โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนอื่นได้

ประโยชน์ที่ได้รับ
         1. ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ดังนี้
                ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกลุ่มอาชีพต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมาย ให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต และปรับปรุงคุณภาพผลผลิต พัฒนาการเกษตรให้เป็นแบบยั่งยืน โดยการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการปรับปรุงบำรุงดิน ผสมผสานเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสม เน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของตลาดกว้างขวางยิ่งขึ้น
        2. ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้
                พัฒนาการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ให้เป็นเกษตรปลอดภัย ทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด
        3.ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน ดังนี้
                กลุ่มเกษตรกร ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้ามีส่วนร่วม ตลอดจนความสัมพันธ์ในการวางแผนการผลิต และการตลาดให้มากขึ้น และเป็นเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ในการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากชุมชน
ส่วนราชการต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        4. ด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนี้
                มีการสาธิตรูปแบบการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การประมง และการปรับปรุงบำรุงดิน อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้จัดการฝึกอบรม และถ่ายเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำการเกษตรแบบบูรณาการ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ
เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติได้จริง เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง
         5. ด้านการบริหารจัดการ ดังนี้
                ศูนย์ฯ เป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูล และกลไกที่สำคัญในการประสานงาน และการปฏิบัติงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของทั้งหน่วยงานราชการและท้องถิ่น รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่

ปัจจัยสำเร็จ
      1. มีแผนในการดำเนินงานที่ชัดเจน และปฏิบัติได้จริง
     2. คณะทำงานมีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน และร่วมมือร่วมใจกันในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
     3. มีเกษตรกรขยายผลที่นำไปปฏิบัติตามแล้วสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้

บทเรียนที่ได้รับ
      1. ได้เรียนรู้ถึงปัญหาของเกษตรกร หรือในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ฯ มากขึ้น ทำให้ต้องมีการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา หรืออุปสรรคต่างๆ ไปได้
      2. ได้แนวทางการดำเนินงานแบบใหม่ ที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ผู้ที่สนใจมากขึ้น
      3. เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้กันระหว่างผู้เข้ามาเยี่ยมชม/เกษตรกร มากยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลติดต่อโครงการ