Project Description
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
ความเป็นมา
เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำเพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแม่งัด ซึ่งมีมากถึง 37,133 ครอบครัว ประชากรรวม 140,068 คน ให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งในฤดูฝนยังเป็นโครงการที่บรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง และบรรเทาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มของจังหวัดเชียงใหม่ และปัจจุบันยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่
แนวพระราชดำริ
โครงการชลประทานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ควรจัดการให้ราษฎรมีการใช้น้ำอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตัวเขื่อน สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านแม่วะ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน การก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529
วัตถุประสงค์โครงการ
เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแม่งัด
ลักษณะโครงการ
เป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 26.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 332 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลัง ผลิตเครื่องละ 4,500 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 9,000 กิโลวัตต์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 24.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ผู้ได้รับประโยชน์
ชาวบ้านในเขตพื้นที่โครงการ
ที่มา : โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน
พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ประเภทโครงการ
โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ
การดำเนินงานและผลการดำเนินงาน
ส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในที่ราบเชิงเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่งัด อยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ชลประทานรวมทั้งหมด 26,810 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่แน่นอนให้แก่พื้นที่ชลประทานเก่า โครงการแม่ปิงเก่า 49,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานของฝายราษฎรในลำน้ำแม่ปิง จำนวน 16 แห่ง มีพื้นที่ ชลประทานรวม 62,000 ไร่
ความสำเร็จของโครงการ
ปัจจุบันชาวบ้านในเขตพื้นที่โครงการที่มีจำนวนทั้งสิ้น 37,133 ครอบครัวประชากร 140,068 คนมีอาชีพการเกษตรเป็นหลักสามารถปลูกพืชได้มากกว่าปีละ 2 ครั้งเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สำหรับโครงการส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้ในท้ายเขื่อน 30,000 ไร่ พื้นที่โครงการแม่แฝก 70,000ไร่ พื้นที่ชลประทานแม่ปิงเก่า 44,900 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกของฝายราษฎร์อีก 33,400ไร่ รวมพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯทั้งสิ้น 207,289 ไร่
นอกจากได้รับผลสำเร็จในการทำนาแล้ว ในการเพาะปลูกพืชทั้งพืชยืนต้นให้ผลและพืชล้มลุกประจำฤดูกาล ตลอดถึงผักชนิดต่างๆ ก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แม้ว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงหน้าแล้งไม่มีฝนและทางเขื่อนปล่อยน้ำลงมาทางตอนล่างน้อยก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากระดับน้ำใต้ดินมีความตื้นเพียงพอแก่การหยั่งราก เพื่อดูดซับขึ้นมาหล่อเลี้ยงลำต้นของต้นไม้ได้ตลอดทั้งปีราษฎรในพื้นที่จึงไม่กระทบกระเทือนแต่ประการใดในขณะที่หลายๆ พื้นที่กำลังร้องขอน้ำเพื่อ ช่วยเหลือ แปลงเพาะปลูก ประโยชน์ที่เกิดจากเขื่อนแม่งัดฯ ถัดมา คือ การบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง โดยเฉพาะบรรเทาน้ำหลากเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นอาหารโปรตีนของชาวบ้าน สามารถสร้างอาชีพเสริมทางการประมงน้ำจืดอย่างเช่นการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นต้นได้อีก
ข้อมูลติดต่อโครงการ
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมชลประทาน , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย