Project Description
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ
ความเป็นมา
ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่าได้มีหนังสือทุนการกุศลสมเด็จย่า ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 ขอให้มูลนิธิโครงการหลวงให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เทคนิคการปลูกพืชและการตลาดให้แก่เกษตรกรบ้านแม่มะลอ หมู่ 9 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ และต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางมูลนิธิโครงการหลวงได้เข้าร่วมประชุมวางแผนพัฒนากับเกษตรกรตัวแทน จำนวน 19 ราย ได้ตกลงในหลักการปลูกพืชผักส่งตลาดโครงการหลวงโดยเน้นการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมในขั้นต้น กำหนดการปลูกหอมญี่ปุ่นเป็นพืชนำร่อง โดยได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่มะลอ” และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ
วัตถุประสงค์
1.เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของโครงการหลวงไปสู่ชุมชนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้และการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นตามความเหมาะสมของสภาพภูมิสังคม
2. เพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนชุมชนด้วยตนเองและการบูรณาการกับหน่วยงานของภาครัฐ องค์กรท้องถิ่นและพันธมิตรอื่น
3.เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้มีอาชีพที่มั่นคง พัฒนาคุณภาพผลผลิตได้มาตรฐาน และมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง รักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงทางสังคม โดยคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
4. เพื่อพัฒนาพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำ (HUB) หรือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน
บ้านแม่มะลอหมู่ 9 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
พิกัด… E 440760, N 2058379
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 900–1,200 เมตร
การดำเนินงาน
หลักการและแนวคิด
ปัญหาและอุปสรรค
1.1 เศรษฐกิจ
ปัญหา เกษตรกรส่วนใหญ่มีความยากจนเพราะขาดความรู้ทางวิชาการที่เหมาะสมในการผลิต ขาดการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ราคาผลผลิตต่ำ ไม่มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรจึงขาดอำนาจในการต่อรอง ในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้มีรายได้ปีละครั้ง ความต้องการ มีความต้องการส่งเสริมด้านอาชีพทั้งในและนอกภาคการเกษตรที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงมีการช่วยเหลือทางด้านการวางแผนการผลิตและตลาดให้มีความสมดุลระหว่างราคาผลผลิตกับต้นทุนการผล
1.2 สังคม
ปัญหา เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จึงก่อให้เกิดหนี้สินทั้งในและนอกระบบ เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงความต้องการ ต้องการลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้และนำองค์ความรู้ต่างๆมาพัฒนาด้านอาชีพ
1.3 สิ่งแวดล้อม
ปัญหา ปัญหาหลักคือ ขาดแหล่งน้ำ บ่อพักน้ำ ระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร เนื่องจากในการต่อระบบน้ำสู่แปลงเกษตรนั้นต้องใช้งบประมาณข้อนข้างสูงประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดมาหลายปีจึงทำให้ดินข้อนข้างเสื่อมโทรมความต้องการต้องการการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานเพื่อสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร บ่อพักน้ำและระบบกระจ่ายน้ำสู่แปลงเกษตร เพื่อสามารถปลูกพืชอื่นๆในฤดูแล้งได้
กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)
ดำเนินกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ จำนวน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้
2. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาด้านการตลาด
3. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
5. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
โดยมีกระบวนการปฏิบัติงานตามภารกิจ หรือวิธีดำเนินกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้
1. ได้ติดตามให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวทางโครงการหลวงและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปัจจัยการผลิตแก่กลุ่มเกษตรกร เช่น ติดตามให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง การจัดฝึกอบรมด้านอาชีพ ตามแผนปฏิบัติการ
2. จัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล พืชผักทั้งในและนอกโรงเรือน และไผ่หวานในศูนย์เรียนรู้ และสนับสนุนการจัดทำแปลงทดสอบสาธิตโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
3. สร้างวิทยากรชุมชนหรือพัฒนาทักษะแก่เกษตรกร เกี่ยวกับ การปลูกผักในโรงเรือน การเพาะกล้า
การเสียบยอดมะเขือเทศและการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร-เกษตรกร
4. สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม (ธกส.)
5.ติดตามและประสานงานเชื่อมโยงระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอกับสถานีเกษตรกรหลวงอินทนนท์
6. บันทึกต้นทุนและรายได้จากการผลิตพืช เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและตลาด
ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
สรุปผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
จากข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนในด้านอาชีพ ที่พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ผลผลิตพืชต่อไร่ต่ำ ราคาผลผลิตมีราคาถูก ซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงมาจากผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ รวมถึงมีต้นทุนในการผลิตสูงด้วยการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกเป็นหลัก มีตลาดรองรับน้อยและยังขาดการรวมกลุ่มภายในชุมชนเพื่อการจำหน่ายสินค้าการเกษตร
การกำหนดแนวทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในระยะแรก โดยการเน้นการพัฒนาพืชเดิมของพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านตลาด เช่น หอมญี่ปุ่น ซึ่งได้นำองค์ความรู้จากการวิจัยมาปรับใช้ในพื้นที่ คือ งานวิจัยการจัดการธาตุอาหาร การปลูกให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP และการขอใบรับรองGAP โดยระยะแรกได้มุ่งเน้นการส่งผลผลิตให้กับมูลนิธิโครงการหลวง
แนวทางที่สอง ได้แก่ การส่งเสริมพืชชนิดใหม่ที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เน้นชนิดพืชที่ให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรโดยใช้พื้นที่น้อยแต่ได้รับผลตอบแทนสูง คือ พืชผักทั้งในและนอกโรงเรือนและการส่งเสริมการปลูกไม้ผล นอกเหนือจากการสร้างรายได้จากการจำหน่ายโดยตรง เช่น องุ่น เคฟกูสเบอรี่ ส่งเสริมการปลูกไม้ผลยืนต้นให้เป็นรายได้ระยะยาวและช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า ได้แก่ อโวคาโด พลับ มะม่วง มะขามยักษ์ เป็นต้น
แนวทางที่สาม ได้แก่ การดำเนินการจัดหา ก่อสร้างแหล่งน้ำ บ่อกักเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคจากการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 มีเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ จำนวน 371 ราย รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จำนวน 256 ราย ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร จำนวน 4,877,647 บาท ซึ่งดำเนินงานด้านการรับรองคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่เกษตรกรแล้ว รวม 5 ปี จำนวน 92 ราย ใน 8 ชนิดพืช แนวทางของการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพในระยะต่อไป ยังเน้นการพัฒนาอาชีพที่ก่อให้เกิดรายสูงและใช้พื้นที่น้อยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตพืชผักปลอดภัย การส่งเสริมไม้ผล ไม้ผลยืนต้น โดยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพผ่านสถาบันเกษตรกรที่มีการจัดทำแผนพัฒนาของกลุ่ม ชุมชน ควบคู่ไปกับการนำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจผลิตไปด้วยกัน มีการจัดทำแผนการผลิต แผนการตลาดในแต่ละระดับควบคู่ไปกับแผนการรับรองคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตรายสาขา โดยเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการกระจายการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่ ชุมชนเป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยสนับสนุนให้ชุมชนมีการเรียนรู้จากแปลงเรียนรู้ของโครงการ แปลงตัวอย่างของเกษตรกร ในการนำไปปรับใช้ในการผลิตของตนเองต่อไป
สรุปผลการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน
มุ่งเน้นการจัดทำแผนชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้เองเป็นประการแรก และส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นสถาบันเกษตรกรจากกลุ่มอาชีพธรรมชาติ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเตรียมสหกรณ์ และเป็นกลุ่มสหกรณ์ได้ในที่สุด ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้เป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้แนวทางการดำเนินงานต่อไป ได้แก่ การสนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดทำแผนของชุมชนได้เอง และมีการขับเคลื่อนแผนในการแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนวิชาการ งบประมาณที่จำเป็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะแรก และที่สุดชุมชนสามารถบริหารจัดการกองทุนของชุมชนในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชนได้ โดยมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีพครัวเรือนและชุมชน
สรุปผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดำเนินงานในสองกิจกรรมหลัก คือ การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปลูกป่าชาวบ้าน หญ้าแฝกและการปรับระบบพื้นที่ตามระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกฟื้นฟูและดูแลป่าชุมชน การจัดทำแนวกันไฟป่า การก่อสร้างฝายชะลอน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กพร้อมระบบกระจายน้ำ การรณรงค์การลดการใช้สารเคมี และการผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง กิจกรรมที่สอง คือ การปรับระบบการเกษตรและการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม โดยการสำรวจขอบเขตและการจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง
แนวทางการดำเนินงาน คือ เน้นการขยายการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินงานให้ได้มากที่สุด โดยการกำหนดเป็นแผนงานขั้นต่ำในแต่ละปีงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องของการนำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน มาใช้ประกอบการตัดสินใจทำการผลิตต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร
ปัจจัยความสำเร็จ
– การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุม
– การติดตามประสานงานอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในพื้นที่
– การให้ความร่วมมือของผู้นำชุมชนและคนในชุมชน
– งบประมาณและการทำงานบูรณาการของหน่วยงาน
บทเรียนที่ได้รับ
การให้ความร่วมมือของคนในชุมชนและหน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชุมชน เพราะสามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงตามความต้องการของในชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งในการพัฒนาชุมชนมีหน่วยงานเข้ามาทำงานแบบบูรณาการก็จะสามารถพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายได้
ข้อมูลติดต่อโครงการ
บ้านแม่มะลอหมู่ 9 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่