แม่ออน 2018-06-19T10:07:38+00:00

Project Description

สนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการเกษตรอาหารกลางวัน
ตามแนวพระราชดำริ

ความเป็นมา

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ชนบทและท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทรงพบว่ามีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาพัฒนาเท่าเทียมกันทุกคน ทำให้สนพระทัยและพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. 2523 พระองค์จึงทรงเริ่มงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยมุ่งเน้นให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรภายในโรงเรียน และนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
         กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำ “โครงการขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ด้วยการน้อมนำแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ฯ มาขยายผลในโรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนในสังกัดองค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดช่วงการศึกษา โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในโรงเรียนมาประกอบอาหาร
  2. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้านการทำการเกษตร ด้านอาหารโภชนาการ และสุขภาพอนามัย
  3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันกับการเรียนการสอนในหลักสูตร
  4. เพื่อพัฒนาเด็กและเยาชนในโรงเรียนในการเจริญเติบโตและทั้งร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์อย่างเต็มศักยภาพ
  5. เพื่อส่งเสริมการดำเนินชีวิตปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชุมชน และผู้ปกครอง

หลักการและแนวคิด

         ด้วยรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. 2557 – 2560) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 กำหนดให้มีการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษาในระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ตามในระดับพื้นที่
         โรงเรียนทาเหนือวิทยา สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้น้อมนำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงริเริ่มโครงการตั้งปี 2523 ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยมุ่งเน้นให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรภายในโรงเรียน และนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ มาจัดทำ “โครงการขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยน้อมนำแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริฯ มาประยุกต์ใช้และขยายผลเพื่อปลูกฝังให้นักเรียน เยาวชน และชุมชนดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

 

 

 

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน     

บ้านห้วยบง หมู่ที่ 3 ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

การดำเนินงาน

กระบวนการผลิตงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน (วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ)

  1. แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนโครงการ
  2. ประชุมคณะทำงานเพื่อวางแผนการปฏิบัติงานกำหนดเกณฑ์และคัดเลือกโรงเรียนเป้าหมาย
  3. ประชุมคณะทำงาน เพื่อคัดเลือกรูปแบบสื่อที่ใช้ในการเรียนรู้ จัดทำแผนการเผยแพร่สื่อ และโรงเรียนดำเนินการเผยแพร่สื่อ
  4. หน่วยงานร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ และดำเนินการโครงการในรูปแบบบูรณาการตามแผนปฏิบัติการและกรอบระยะเวลา

                   4.1 กลุ่มการเรียนรู้การสอนแบบบูรณาการ :  จัดการเรียนการสอนเรื่องการเกษตร เคหกิจการเกษตร อาหารและโภชนาการ สุขภาพอนามัย ความเป็นผู้นำ คุณธรรมและจริยธรรมในโรงเรียน

                   4.2 กลุ่มการผลิต : พัฒนาแหล่งน้ำ ดิน ขยายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพื่อการเกษตร วางแผนทำการเกษตรให้ครอบคลุมภาคการศึกษา และผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สอดคล้องกับแผนการประกอบอาหารของโรงเรียน นำระบบสหกรณ์มาใช้ในกระบวนการผลิต และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ นำผลผลิตผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียนจำหน่ายให้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

                   4.3 กลุ่มอาหารโภชนาการและสุขภาพอนามัย :  ส่งเสริมการแปรรูและถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้ในช่วงขาดแคลน ประกอบอาหารกลางวันและอาหารที่มีคุณค่าถูกสุขลักษณะ เฝ้าระวัง ติดตามโภชนาการของนักเรียนโดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และปรับปรุงภาวะโภชนาการของนักเรียนและชุมชน ตรวจสุขภาพประจำปีของนักเรียนและชุมชน

  1. ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์เพื่อช่วยในการดำเนินโครงการ
  2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน/ อปท./หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน
  3. คณะทำงาน/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามกำกับโครงการอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน ประเมินผลการดำเนินงานตามระบบโครงการ

ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับโรงเรียน
  2. สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโดยนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน
  3. ขยายกระบวนการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชนบริเวณรอบโรงเรียน

ปัจจัยความสำเร็จ

  1. บุคลากรซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ถูกต้อง
  2. กระบวนการศึกษาพัฒนา การบริหารที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์ให้กับบุคลากรที่เหมาะสม
  3. จัดกิจกรรมการพัฒนาองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เกี่ยวกับโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

บทเรียนที่ได้รับ

  1. นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดช่วงการศึกษา โดยใช้ผลผลิต ทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในโรงเรียนมาประกอบอาหาร
  2. นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้านการทำการเกษตร ด้านอาหารโภชนาการ และสุขภาพอนามัย
  3. เกิดการบูรณาการการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันกับการเรียนการสอนในหลักสูตร
  4. พัฒนาเด็กและเยาชนในโรงเรียนในการเจริญเติบโตและทั้งร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ อย่างเต็มศักยภาพ
  5. ส่งเสริมการดำเนินชีวิตปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชุมชน และผู้ปกครอง    

 

ข้อมูลติดต่อโครงการ

บ้านห้วยบง หมู่ที่ 3 ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่