เชียงใหม่…เมืองหลวง ของโครงการพระราชดำริฯ

k3-1

 

ภายหลังทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกหมู่เหล่าทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทยอยเข้าร่วมกิจกรรมแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นอย่างเนืองแน่น แม้ใบหน้าจะเปื้อนคราบน้ำตา แต่ยังพร้อมใจกันร้องเพลงความฝันอันสูงสุด เพลงลมหนาว และเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างเต็มกำลัง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานให้อย่างสม่ำเสมอตลอดรัชสมัย

ยิ่งกว่านั้น จังหวัดเชียงใหม่ยังเปลี่ยนความเศร้าโศกเสียใจให้กลายเป็น…พลัง ในการสืบสานพระราชปณิธานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรในพื้นที่ภาคเหนือ นับแต่เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจเมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2501 เป็นครั้งแรก โดยรังสรรค์พื้นที่บริเวณสนามหญ้าภายในศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตกแต่งอย่างงดงามร้อยเรียงเรื่องราวออกมาเป็น “นิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ” อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นทั้งหมดรวม 8 ด้าน ด้วยมุ่งหวังเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมอย่างเต็มอิ่ม 100 วันเต็ม นับจากวันที่ 26 ตุลาคม 2559-20 มกราคม 2560

ปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ถือเป็นเมืองหลวงของโครงการพระราชดำริฯที่มีมากกว่า 4,447 โครงการ ในจำนวนนี้มีถึง 622 โครงการที่พระองค์พระราชทานให้ชาวเชียงใหม่ เริ่มจากทรงตั้งโครงการหลวงแห่งแรกที่ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และขยับขยายมาเรื่อยๆ รวม 26 แห่ง จากโครงการหลวง 38 แห่งทั่วประเทศ ด้วยทรงมุ่งมั่นให้พสกนิกรของพระองค์มีอาชีพที่สุจริตและมั่นคง รวมทั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด

“เพราะจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียวที่พระองค์เสด็จฯทรงงานมากที่สุดในประเทศไทย นับจากปี 2501 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากถึง 92 ครั้งในทุกอำเภอ และทุกครั้งพระองค์พระราชทานความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในรูปแบบต่างๆ ตามสภาพของพื้นที่และความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และพระราชวิริยอุตสาหะด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์”

สำหรับ “นิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ” เป็นนิทรรศการแบบจำลองโมเดลเสมือนจริงทั้งหมด 8 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 3,031 โครงการ, การพัฒนาด้านการเกษตร 165 โครงการ, การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 159 โครงการ, การพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ 325 โครงการ, การพัฒนาด้านสาธารณสุข 55 โครงการ, การพัฒนาด้านคมนาคมและการสื่อสาร 77 โครงการ, การพัฒนาด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา 395 โครงการ และการพัฒนาแบบบูรณาการ/อื่นๆ อีก 240 โครงการ

หลังเปิดนิทรรศการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่เดินทางเข้าเยี่ยมชมต่างตื่นตาตื่นใจกับโมเดลจำลองที่เห็นตรงหน้า เพราะประหนึ่งนิทรรศการที่มีชีวิต อาทิ มีเสียงน้ำไหลลงมาจากแนวสันเขื่อนขนาดเล็กจากโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 ตั้งใจจำลองเป็นโมเดลเขื่อนหลักที่เป็นนามพระราชทานมาจัดแสดงให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค และในช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งของทุกปี

รวมถึงพระราชทานแนวทางหรือต้นแบบในการแก้ไขและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง นั่นคือศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด ที่เน้นให้เป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ผสมผสานกับการส่งเสริมอาชีพทางด้านเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ภาพจำลองจึงมีทั้งเล้าเป็ด เล้าไก่ หมูหลุม แกะตัวขาว พืชสวนครัวปลอดสารพิษ ผักและไม้ดอกเมืองหนาว อันล้วนก่อเกิดมาจากพระเสโทที่เปียกชุ่ม หลั่งรินสู่ผืนดินที่พระบาทของพระองค์ทรงย่ำไปถึงการจัดทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำลำธาร โครงการอธรรมปราบอธรรม (แมลงกินแมลง) สร้างใยแมงมุมดักหมอกที่สวยงามให้กลายเป็นหยดน้ำเพื่อการเกษตร และกังหันชัยพัฒนาที่ทรงพัฒนามาจาก “หลุกวิดน้ำ” ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวล้านนา ล้วนเกิดขึ้นระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

ทุกโครงการที่พระองค์ท่านพระราชทานหรือมีพระราชดำริ ล้วนเกิดประโยชน์แก่ราษฎรได้นำไปปฏิบัติ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพียงเพื่อให้ชาวประชาได้..อยู่ดี กินดี

แม้แต่การสาธารณสุขก็ไม่ทรงเคยละเลย ปี 2513 ทรงจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน โดยเริ่มจากคณะแพทย์ที่ตามเสด็จ ให้ช่วยดูแลรักษาโรคฟันให้กับชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมกับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 50 ล้านบาท ตั้งกองทุนทันตกรรมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ เพราะทรงมีพระราชดำรัสว่า “…เวลาไม่มีฟัน ทำให้กินอะไรไม่ได้ ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง…”

มีเรื่องเล่าผ่านบางส่วนของนิทรรศการตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งเสด็จฯอำเภอสะเมิงในปี 2530 ทรงพบชาวบ้านเป็นโรคคอพอก ร่างกายแคระแกร็นเพราะขาดสารไอโอดีน เนื่องจากชาวบ้านไม่กล้ากินเกลือ จนต้องรับสั่งให้นำเกลือไอโอดีนมาพระราชทาน ชาวบ้านจึงยอมกิน 3 ปีต่อมาจึงเกิดโครงการนำร่องเกลือเสริมไอโอดีนขึ้นที่อำเภอสะเมิง นำราษฎรที่ตั้งใจมาอบรมเป็น “หมอหมู่บ้าน” กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาทรงรับสั่งให้สร้างสถานีอนามัยที่บ้านห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา เมื่อปี 2527 เพราะทราบดีว่าราษฎรลำบากที่จะเดินทางไปพบแพทย์ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในที่สุดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการด้านพลังงานที่นำธรรมชาติรอบตัวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ อาทิ การผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากพลังงานน้ำ และการสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่ถึงครึ่งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมดที่ทรงริเริ่มและคิดค้นตลอดการครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่า 70 ปีทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง กลายเป็นต้นแบบที่ทั่วโลกให้ความสนใจเดินทางมาศึกษาและเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ได้จริงตามสภาพพื้นที่

การจัดนิทรรศการครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมและจำลองทุกโครงการตามแนวพระราชดำริในจังหวัดเชียงใหม่มาจัดแสดงไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยว ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้และน้อมนำแนวทางพระราชดำริที่พระราชทานไว้มาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

 

รายงาน
โดย จินตนา กิจมี
นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 31 ต.ค.59

2018-04-02T11:43:21+00:00