วันพุธที่ 9 มกราคม 2562 เวลา13.30 น.นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือพร้อมคณะอนุกรรมการพบปะเยี่ยมราษฎรและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฟาร์ตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านดงเย็น ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้กับราษฏรที่มีฐานะยากจนได้มีงานทำโดยดำเนินการในลักษณะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับราษฎรเข้ามารับจ้างทำงานในฟาร์มฯในขณะเดียวกันก็เรียนรู้การทำเกษตรที่ถูกหลักวิชาการ รวมทั้งส่งเสริมให้ความรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และขยายพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการฯ ส่งผลให้ราษฎรได้บริโภคผลผลิตของโครงการฯ ที่มีคุณภาพใหม่สดปลอดภัยจากสารพิษและมีราคาถูกนอกจากนี้ราษฎรยังสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ชะมดเช็ดได้ประสบความสำเร็จสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9 ในการอนุรักษ์พันธุ์ชะมดเช็ดรวมทั้งยังลดการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าทำให้พื้นที่ป่าไม้บริเวณรอบมีความอุดมสมบูรณ์
วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2562 โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยอมพาย ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9มีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยอมพายเพื่อเป็นแหล่งสาธิตและทดลองปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาวบนพื้นที่สูง และเป็นแหล่งจ้างงานโดยนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการฯ ราษฎรในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”มีแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพราษฎรสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันนอกจากนี้ยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศและวัฒนธรรมทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น
และในช่วงบ่าย องคมนตรี พร้อมคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎร ซึ่งจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ และยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินงาน ปัจจุบันราษฎรมีข้าวพืชผักและอาหารโปรตีนในการบริโภคอย่างเพียงพอมีความรู้การทำเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการและได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนอกจากยังสามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 5,150 ไร่ ส่งผลให้เกิดความความหลากหลายของระบบนิเวศของพืชพรรณ สัตว์ป่าหายากได้กลับคืนมา เช่น นกเงือก และชะนี เข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปีโดยปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี