นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือครั้งที่ 3/2562 ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม ๒๕๖๑ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

        เดินทางไปติดตามและรับฟังสรุปผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน สำนักงานชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 1)โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ 2)โครงการปรับปรุงถนนวงแหวนที่เชื่อมระหว่างตำบลอมก๋อย ตำบลนาเกียน ตำบลสบโขงและตำบลเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

        คณะออกเดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดาริบ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยแบแล อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “นิทรรศการ 36 ปี ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้” จังหวัดเชียงใหม่ และร่วมปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ได้แก่ ไก่ฟ้าหลังขาว จำนวน 9 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง จำนวน 9 ตัว โอกาสนี้ได้มอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์ของการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริการประกวดผลผลิตทางการเกษตรต่างๆและมอบใบประกาศนียบัตรโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

          สำหรับ นิทรรศการ 36 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ทุกวัน ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ และพระราชทานแนวทางการในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และอาชีพที่เหมาะสมให้กับราษฎร ซึ่งตลอด 36 ปี ของการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงแนวพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาฯได้นำมาปฏิบัติโดยด้านสภาพแหล่งน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ เช่น การปลูกเสริมป่า การควบคุมและป้องกันไฟป่า การก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) ซึ่งได้สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ส่งผลให้มีพันธุ์ไม้นานาชนิดเพิ่มขึ้น ดินมีความร่วนซุยสามารถอุ้มน้ำได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าร่องห้วยธรรมชาติที่เคยแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งมีน้ำไหลตลอด ด้านการพัฒนาป่าไม้ ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูสภาพป่าเต็งรังที่เคยเสื่อมโทรมพัฒนาเป็นป่าเบญจพรรณ และยังพบชนิดของพันธุ์ไม้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกล้วยไม้ท้องถิ่นซึ่งจากการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ได้ถึง 51 ชนิด จากเดิมที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2544 มีเพียง 24 ชนิด สัตว์ป่าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนกมีจำนวน 122 ชนิด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนกยูงไทยมีมากกว่า 100 ตัว สำหรับด้านการขยายผลจากการศึกษา ทดลอง วิจัย ได้พัฒนาอาชีพให้กับราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ถึง 18 หมู่บ้าน เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพสามารถพึ่งตนเองได้เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นพร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

 

2018-12-14T17:34:22+00:00